ประธาน กสทช. โต้ข่าว ยันเดินทางไปตปท.ใช้จริงแค่ 3 ล้าน

23 ส.ค. 2566 | 19:53 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2566 | 20:03 น.

ประธาน กสทช.ยึดนโยบายประหยัดงบประมาณ พร้อมแจ้งข่าวการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ใช้งบประมาณจริงจำนวน 3 ล้านบาท เหตุเดินทางไปดูงานพร้อมแสดงวิสัยทัศน์กิจการโทรคมนาคมในประเทศ

จากกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลและข่าว การใช้งบประมาณเดินทางไปประชุมในต่างประเทศ ของศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อ้างว่ามีการใช้เงินไปถึง 45 ล้านบาทนั้น

พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. เปิดเผยว่า ภารกิจของ กสทช. ในการประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมธุรกิจ เทคโนโลยีและรักษาสถานะของประเทศไทยในกิจการโทรคมนาคมระดับนานาชาติ ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ให้ความสำคัญมาก ในบริหารงานกว่า1 ปีที่ผ่านมา ได้รับเชิญจากองค์กรต่างๆ ไปร่วมประชุม แสดงวิสัยทัศน์และยกระดับความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง

การเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ประธานกสทช. เน้นย้ำเรื่อง ความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณมากที่สุด นำผู้บริหารหรือบุคลากรร่วมไปด้วยเท่าที่จำเป็น และพยายามเดินทางโดยมิได้ใช้สิทธิเต็มจำนวนตามเอกสิทธิ์ในฐานะประธาน กสทช. แต่อย่างใด อาทิ งดเว้นสิทธิบัตรโดยสารเครื่องบินที่นั่งชั้น 1 และห้องสวีท เนื่องจากเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลังสถานการณ์โควิด-19 สูงขึ้น โดยแจ้งว่า ให้เลือกจองบัตรโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจที่ราคาถูกกว่าเป็นหลัก

พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า ตามงบประมาณประจำปี 2565 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของประธาน กสทช. รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,593,809.93 บาท และตามงบประมาณประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 3,880,722.05 บาท เท่านั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณสูงมากตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่ประการใด

กรณีที่ ศาสตราจารย์คลินิก สรณ เดินทางไปต่างประเทศเป็นการส่วนตัว เช่น สหรัฐ หรือ ญี่ปุ่น นั้น ท่านจะใช้งบประมาณของตนเองเป็นหลัก ไม่ใช้งบประมาณของกสทช. โดยส่วนใหญ่ไปเพื่อไปพักผ่อน และ ศึกษาดูงานทาง เทคโนโลยี การแพทย์โทรคมนาคม โดยจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดสุดสัปดาห์

ส่วน ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ตามที่กสทช.กำหนดไว้ตามระเบียบว่าด้วยการนั้น ตามข้อ 7(2) ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน พ.ศ.2565

“การเดินทางไปต่างประเทศของประธานกสทช. เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ในฐานะผู้นำองค์กรและตัวแทนประเทศไทยที่ไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์กับองค์กรภาคีด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมระดับโลก อย่างในปีงบประมาณ 2566 ก็ใช้เพียง 3.8 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณสูงแต่ประการใด”

ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

.

พ.ต.อ.ประเวศน์ ยกตัวอย่าง การเดินทางประชุมต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ การประชุมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุม ITU Plenipotentiary Conference (PP22) กรุงบูคาเรสต์ สาธารณรัฐโรมาเนีย และ การประชุม ITU Council ณ นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ถือเป็นภารกิจหลักของประธานกสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยการประชุม PP-22 ประธานกสทช.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้แทนหลักของประเทศไทย ลงคะแนนเลือกตั้งเลขาธิการ ITU / ผู้บริหาร ITU-R/T/D/ และลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการบริหาร ITU (ITU Council) รวมถึงทำหน้าที่หาเสียงเพื่อให้ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหาร ITU ซึ่งการได้รับตำแหน่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีประเด็นเรื่องสิทธิวงโคจรกับ ITU

ขณะที่การประชุม ITU Council ณ นครเจนีเวา ระหว่างวันที่ 10-13 กรกฎาคม 2566 เป็นการประชุมครั้งแรกที่เลขาธิการ ITU คนใหม่ คือ นาง Doreen Bogdan-Martin มอบนโยบายครั้งแรก และได้เชิญประธานกสทช. จากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย

ส่วนการประชุม Thailand 5G Ecosystem Reverse Trade Mission เป็นการเดินทางได้รับเชิญจาก Department of Commerce ของสหรัฐฯ ซึ่งการเดินทางมีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาการค้ากับรัฐบาลสหรัฐฯ และ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม โดยกรรมการทั้ง 3 ท่านที่เข้าร่วมได้รับการสนับสนุนเต็มจำนวนจากสหรัฐฯ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้อาจพิจารณาปรับสิทธิที่นั่งเป็น first-class โดยอาศัยงบประมาณของกสทช.ก็ได้ แต่ประธานกสทช. ขอใช้สิทธิเฉพาะเท่าที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนเท่านั้น

ทั้งหมด จะเห็นว่าประธานกสทช. บริหารองค์กรแห่งนี้ ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่และใช้งบประมาณการเดินทางที่มีจำกัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน และในความเป็นแพทย์ที่มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าความสุขสบายส่วนตัว สำคัญคือผลลัพท์ที่ได้จากการเดินทางก็ต้องนำมาต่อยอดสู่การฏิบัติจริงได้

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณของ กสทช. หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากเป็นไปอย่างสุจริตโปร่งใส แต่การนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนของสื่อบางแห่งที่ขาดรับผิดชอบและจงใจละเมิด ทำให้กสทช.เกิดความเสียหาย ขณะนี้ทาง กสทช. ได้มีการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป.