บอร์ด กสทช. อนุมัติให้ NT โอนคลื่น 700 MHz ให้ AIS จำนวน 5 MHz

24 ส.ค. 2566 | 06:25 น.
2.1 k

บอร์ด กสทช. อนุมัติให้ NT โอนคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ชนะประมูลวงเงิน 36,707.42 ล้านบาท ให้กับ AIS จำนวน 5 MHz พร้อมเพิ่มเงื่อนไขเปิดความจุ 20% ให้กับ MVNO ใช้งาน คาดสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เปิดเผยถึงที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เมื่อวานนี้ 23 สิงหาคม 2566 ว่า บอร์ด กสทช. ได้อนุมัติวาระการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 5 MHz ระหว่างบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุญาตให้โอนคลื่นได้ โดยให้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กสทช.จึงเห็นชอบตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้การโอนคลื่นดังกล่าวต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ เอดับบลิวเอ็น ต้องเปิดความจุ 20 % ของคลื่นจำนวน 5MHz ให้ MVNO (Mobile virtual network operator) ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองสามารถ เช่าใช้งานได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เอไอเอสได้ประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเอ็นทีในการนำคลื่น 700 MHz จำนวน 5MHz มาให้บริการ โดยเอ็นทีประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz เมื่อปี 2563 ในราคาการประมูลสูงสุด 36,707.42 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วทั้งสิ้น 3 งวด ๆละ 3,670,742,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7 งวด เอไอเอสจะเป็นผู้ชำระค่าใบอนุญาต 5 MHz จำนวน 17,000 ล้านบาท ให้เอ็นที โดยเอ็นทีคาดว่าจะสร้างรายได้จากการโอนคลื่นนี้ 1,140 ล้านบาท

สำหรับการอนุมัติครั้งนี้เนื่องจากมีวาระค้างคาที่ยังไม่พิจารณา หนึ่งในวาระดังกล่าวมีเรื่องการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700  Mhzจำนวน 2x5 MHz ระหว่างบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)  หรือ NT กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS   (วันครบกำหนด 8 ส.ค. 2566)

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

ส่วนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ยังไม่สามารถเสนอชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นเลขาธิการกสทช.ต่อที่ประชุมได้ เนื่องจากกรรมการกสทช.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ลาการประชุม ทำให้กรรมการมาไม่ครบทุกคนจึงไม่เหมาะสมในการเสนอชื่อเพื่อให้  กรรมการ กสทช. เสนอโหวตต่อที่ประชุม.