“ชัยวุฒิ” เผยคดีออนไลน์ลดลง หลัง พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ฝ่าฝืนถูกปรับ

15 ส.ค. 2566 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2566 | 17:29 น.

“ชัยวุฒิ” เผยคดีออนไลน์ลดลง หลัง พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้จาก 790 ต่อวันเหลือเพียง 591 วัน ย้ำหากโดนหลอกลวงสามารถอายัดบัญชีกับธนาคารได้เลย ไม่ต้องรอเเจ้งความ

วันนี้ 15 ส.ค.66  จากกรณีที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์หาช่องทางทุกวิธีทางเพื่อหลอกให้โอนเงินออกจากบัญชีโดยใช้วิธีการต่าง ๆ นั้น ล่าสุด นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม   หรือ ดีอีเอส พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเวทางค์พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

 

 โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงหลอกลวง    ทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้อง  มีตราพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ชิมม้า ในการระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอดๆ ให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทัน รวดเร็ว และยังถือเป็นการอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

คดีก่อนหลังมี พ.ร.ก.

ทั้งนี้ ตามพ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี 2566 สรุปได้ดังนี้ 1.ประชาชนที่โดนหลอกลวงก็สามารถแจ้งให้ธนาคารระงับบัญชีได้เลย ไม่ต้องรอเเจ้งความ 2. ธนาคารสามารถอายัดบัญชีหรือระงับบัญชีม้า ทางธนาคารสามารถระงับบัญชีได้เลย เมื่อมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นบัญชีม้า 3. สำหรับผู้เปิดบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณาบัญชีม้า ซิมม้ามีโทษจำคุก 2-5 ปี หรือปรับ 200,000 – 500,000 บาท  4. กำหนดให้มีแพลตฟอร์ม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา

 

สถิติอายัดบัญชี

สำหรับ สถิติคดีออนไลน์ ก่อน พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ( 1 ม.ค.- 16 มี.ค. 66) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.-31 ก.ค.66) เฉลี่ย 591 เรื่องต่อวัน ขณะที่สถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก.      ( 1 ม.ค.- 16 มี.ค. 66) มีการขออายัด 1,346 ล้านบาท อายัดทัน  87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5 % ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.-31 ก.ค.66)  มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็นอายัดได้ทัน 10.6 %

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ        กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ       และ ช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่างๆ ในทุกรูปแบบ.