นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษา คือหนึ่งในภารกิจของกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. มีเป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยได้เริ่มปรับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย โดยสร้างห้องคอมพิวเตอร์แล็ปขึ้นมา เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และร่วมมือกับ Google นำร่องโครงการ Google Classroom
“การเสริมสร้างบุคลากรให้มีความเข้มแข็งทางดิจิทัล เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ และสามารถใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยล่าสุดร่วมมือกับ AIS รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ให้แก่นักเรียน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 437 แห่ง ซึ่งจะทำให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย”
ด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้อุ่นใจไซเบอร์ ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช.
โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ส่วนแพทย์หญิง วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากการสำรวจเด็กและเยาวชน พบว่าเด็กติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต เป็นปัญหาที่พบเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ปัญหาใหม่ๆ ที่พบคือ เด็กมีการนัดเจอกับคนที่ไม่รู้จักมาก่อน หลังจากมีการพูดคุยกันในโลกออนไลน์ ซึ่งความเสียหายที่พบแตกต่างกันไป หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จะมุ่งเน้นเนื้อหาที่ทำให้รู้ถึงภัยออนไลน์ โดยมีเนื้อหาทั้งหมดมีความยาว 3 ชั่วโมง เมื่อเรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตร