‘อุ่นใจไซเบอร์’ เตรียมใช้จริงในสถานศึกษา

09 ต.ค. 2565 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2565 | 17:39 น.

“อุ่นใจไซเบอร์” ผ่านการรับจาก สพฐ. เป็นหลักสูตร ให้สถานศึกษานำไปใช้จริง3 กระทรวงหลัก สธ. ศธ. และ มท พร้อม พระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมผลักดัน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เปิดเผยว่า AIS ได้ร่วมมือกับภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลักดัน “อุ่นใจไซเบอร์” เป็นหลักสูตรการเรียนรู้

 

เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)รับรองมาตรฐานของหลักสูตร พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ. ยังรับรองหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งสามารถนำผลการนับชั่วโมงการพัฒนาเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะได้

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัลมากเพียงพอหรือไม่

หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ มีการออกแบบเนื้อหาที่อ้างอิงมาตรฐานตามกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ตั้งเป้าส่งต่อไปยังสถานศึกษากว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย
    

 

“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” มี 4 Professional Skill Module ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้ 1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2. Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
    

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ทำการทดลอง ทดสอบ เสมือนจริงใน Sandbox โดยมีครูและนักเรียน ที่เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 1.6 แสนคน 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565