ผู้ใช้ Threads วันแรกพุ่งทะลุ 30 ล้านคน สะพัดทวิตเตอร์จ่อฟ้องเมตาล้วงข้อมูล

07 ก.ค. 2566 | 11:18 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 11:41 น.

เพียงวันแรกที่เปิดให้บริการ “เธรดส์” (Threads) แอปน้องใหม่ของ “เมตา” บริษัทแม่เฟซบุ๊ก-ไอจี ก็ทำสถิติยอดผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 30 ล้านคนทั่วโลก ทำให้มีข่าวทนายของทวิตเตอร์เตรียมโต้กลับด้วยการฟ้องเอาผิดเมตา ฐานล้วงข้อมูล

 

แอปพลิเคชัน เธรดส์ (Threads) ของ บริษัทเมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม(ไอจี) ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานคล้ายกับ ทวิตเตอร์ (Twitter)ได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. โดย นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา วางเป้าหมายให้เธรดส์ได้รับความนิยมเหนือกว่าทวิตเตอร์ในอนาคต

ผลการเปิดให้ลงทะเบียนใช้งานวันแรก ปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้าใช้เธรดส์ถึง 10 ล้านคน ในช่วงเวลา 7 ชั่วโมงแรก และหลังจากนั้นสรุปผลภายใน 1 วันปรากฏว่าขณะนี้จำนวนผู้สมัครใช้งานแอปน้องใหม่ดังกล่าว พุ่งทะยานทะลุ 30 ล้านคนไปแล้ว

ซัคเคอร์เบิร์กให้มุมมองว่า การรักษาแพลตฟอร์มการสื่อสารใหม่นี้ให้ “เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน” จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เธรดส์ประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด "อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง(ในการแซงหน้าทวิตเตอร์) แต่ผมเชื่อว่าควรมี แอปสนทนาสาธารณะที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก ทวิตเตอร์มีโอกาสที่จะทำมัน แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จสักที ผมหวังว่าเรา(เธรดส์)จะทำได้" ซัคเคอร์เบิร์กกล่าว

“เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน” จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เธรดส์ประสบความสำเร็จเหนือทวิตเตอร์

นอกจากนี้ เขายังเปิดเผยว่า ได้เปิดบัญชีของตนเองบนแพลตฟอร์ดของเธรดส์แล้ว โดยใช้ชื่อบัญชีว่า zuck และโพสต์ข้อความแรกว่า "Let's do this.Welcome to Threads."

ด้านคู่แข่งที่โดนท้าทายซึ่งๆหน้าอย่างนายอีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ โต้กลับในทันทีว่า มันเป็นเรื่องที่ดีกว่ามากที่จะถูกโจมตีจากคนแปลกหน้าบนทวิตเตอร์ แทนที่จะหลงระเริงไปกับความสุขจอมปลอมของอินสตาแกรมที่ซุกซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เธรดส์มีโอกาสที่จะดึงดูดผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ ซึ่งเป็นยุคการบริหารงานของนายอีลอน มัสก์ ที่ซื้อกิจการของทวิตเตอร์มาเมื่อปีที่แล้ว (2565) กระทั่งเกิดกระแสด้านลบต่อทวิตเตอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากนายมัสก์ มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การใช้บริการทวิตเตอร์แทบจะรายวัน และที่ถูกต่อต้านมากที่สุดก็คือ การจำกัดการเข้าถึงโพสต์รายวันสำหรับผู้ใช้งานทวิตเตอร์นั่นเอง

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ใช้ชื่อบัญชี Zuck บนแพลตฟอร์มเธรดส์ โพสต์แรกๆของเขามีทั้งภาพตัวเองกับลูกวัยเบบี๋ และแจ้งข่าวยอดผู้ใช้เธรดส์ทะลุ 30 ล้านคนใน 24 ชั่วโมง

นำจุดอ่อนของคู่แข่งมาเป็นจุดแข็ง

ดูเหมือนเธรดส์จะนำเรื่องนี้มาใช้เป็นจุดแข็งของตัวเอง โดยเธรดส์ทำให้การเข้าใช้งานเป็นเรื่องง่ายและเป็นมิตร โดย...

  • เปิดให้ผู้ที่มีบัญชีอินสตาแกรมอยู่แล้ว สามารถเข้าใช้ได้ในชื่อเดียวกัน
  • ผู้ใช้เธรดส์ก็จะสามารถติดตามบัญชีที่ติดตามอยู่แล้วบนอินสตาแกรมได้ด้วย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ เพราะอินสตาแกรมมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มอยู่แล้วหลายร้อยล้านคน
  • โพสต์บนเธรดส์ก็สามารถแชร์ไปยังบัญชีอินสตาแกรมได้ด้วยเช่นกัน
  • นอกจากนี้ ผู้ใช้งานเธรดส์ยังสามารถโพสต์ข้อความที่มีความยาวสูงสุด 500 ตัวอักษร ตลอดจนลิงก์ รูปภาพ และวิดีโอความยาว 5 นาที
  • สามารถเลือกได้ว่าจะให้บัญชีเป็น Public หรือเป็น Private หรือแม้แต่จะเลือกให้เป็นบัญชีส่วนตัวในอินสตาแกรม และเป็นบัญชีสาธารณะในเธรดส์ แต่ยังไม่สามารถส่งข้อความส่วนตัวได้

ทั้งนี้ เธรดส์ยังอยู่ในเวอร์ชั่นเริ่มต้น ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจจะมีการใส่ฟีเจอร์เพิ่มเติมเข้าไปอีก รวมถึงทำให้สามารถตอบโต้กับผู้คนบนแอปโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้ด้วย โดยบริษัทชี้ว่า วิสัยทัศน์ต่อเธรดส์ คือการใช้สิ่งที่อินสตาแกรมทำได้ดีที่สุด และขยายมันไปสู่ข้อความ

ขณะนี้เธรดส์เปิดให้สามารถดาวน์โหลดใช้ได้ใน 100 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน App Store และ Play Store แต่ยังไม่ได้ให้บริการในสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงอังกฤษ เนื่องจากยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค

ข่าวสะพัดทวิตเตอร์เตรียมฟ้องเมตาฐานล้วงข้อมูล

เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานวานนี้ (6 มิ.ย.) ว่า นายอเล็กซ์ สปีโร เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของบริษัททวิตเตอร์ได้ยื่นหนังสือถึงนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ (ชื่อเต็มของเมตา) โดยขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีหลังจากที่เมตาได้เปิดตัว "เธรดส์" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายกับทวิตเตอร์แทบจะทุกอย่าง

ทั้งนี้ เมตาเปิดตัวเธรดส์(Threads) เมื่อวันพฤหัสฯ(6 ก.ค.) และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 30 ล้านคนแล้วภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งดูเหมือนเป็นการท้าชนโดยตรงกับแอปพลิชันทวิตเตอร์ของนายอีลอน มัสก์ ด้วยการใช้ข้อได้เปรียบที่เมตามีผู้ใช้งานอินสตาแกรมจำนวนหลายพันล้านคนอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ใช้เธรดส์สามารถติดตามบัญชีต่าง ๆ ที่พวกเขาติดตามอยู่แล้วบนอินสตาแกรมได้ และสามารถใช้ชื่อผู้ใช้งาน (username) เดียวกันกับที่ใช้บนอินสตาแกรมได้ด้วย

รายงานระบุว่า ในจดหมายที่ส่งถึงนายซัคเคอร์เบิร์กนั้น นายสปีโร ทนายของทวิตเตอร์กล่าวหาว่า บริษัทเมตาจ้างอดีตพนักงานของทวิตเตอร์ที่ยังสามมารถเข้าถึงความลับทางการค้าของทวิตเตอร์ได้ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นความลับขั้นสูงในด้านอื่น ๆ ด้วย

"ทวิตเตอร์มีความตั้งใจที่จะปกป้องสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และเราขอเรียกร้องให้เมตาดำเนินการในทันทีในการยุติการใช้ความลับทางการค้าของทวิตเตอร์ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นความลับขั้นสูงในด้านอื่น ๆ ของทวิตเตอร์ด้วย" นายสปีโรกล่าว

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแอนดี สโตน โฆษกของเมตาได้โพสต์ข้อความลงบนเธรดส์ในเวลาต่อมาว่า ทีมวิศวกรของเธรดส์ไม่มีใครสักคนที่เป็นอดีตพนักงานของทวิตเตอร์ เท่ากับเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหาของทวิตเตอร์

ขณะเดียวกันอดีตพนักงานอาวุโสรายหนึ่งของทวิตเตอร์เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขาไม่ทราบมาก่อนเลยว่า มีอดีตพนักงานของทวิตเตอร์อยู่ในทีมงานของเธรดส์ หรือมีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของทวิตเตอร์เข้าไปร่วมงานกับเมตาอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่

ก่อนหน้านี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมตามักฉวยประโยชน์จากการที่ทวิตเตอร์กำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ นับตั้งแต่นายอีลอน มัสก์ เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์เมื่อปี 2565 โดยปัญหาที่สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้ใช้งานทวิตเตอร์และผลักดันให้พวกเขามองหาแพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นทางเลือกใหม่นั้น มีตั้งแต่...

  • นโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาที่หละหลวมของทวิตเตอร์
  • การกำหนดให้ผู้ใช้ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือนเพื่อยืนยันตัวตนบัญชีใช้งาน
  • และล่าสุดทวิตเตอร์ได้จำกัดจำนวนโพสต์บนหน้าฟีดที่ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นได้เป็นการชั่วคราว

ข้อมูลอ้างอิง