นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ เช่น การขยายเส้นทางโครงข่ายรถไฟทางคู่ การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ตลอดจนการปรับปรุงระบบอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีระบบราง จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ และด้านพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
จากเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง บูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ และมีพันธกิจที่สำคัญหลายประการ เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และเป็นศูนย์กลางในการรับแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของประเทศและภูมิภาค
เขายังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “หัวเว่ยเป็นบริษัทที่มีศักยภาพอันโดดเด่นที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย โดยหัวเว่ยจะเข้ามาช่วยด้านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะวิชาชีพ การพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมทั้งมีการยกระดับองค์ความรู้ ประสบการณ์ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย การลงนามในบันทึกความเข้าใจในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญของ 'การพัฒนาวิชาชีพสำหรับผู้ที่มีทักษะสูง' และ 'การถ่ายทอดเทคโนโลยี' ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมระบบรางของไทย ความร่วมมือครั้งนี้ยังจะช่วยกระตุ้นการวิจัยและพัฒนา เร่งการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และการจัดการการขนส่งเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) และอุปกรณ์อัจฉริยะชั้นนำระดับโลก
ทั้งนี้ ด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีในปัจจุบัน รากฐานของธุรกิจ ICT รวมถึงความตั้งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรม หัวเว่ยจึงเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ICT สำหรับอุตสาหกรรมระบบรางโดยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับผู้ที่ทำงานในระบราง (Reskill Training) และหลักสูตรเทคโนโลยี ICT ขั้นสูงสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่การประกอบอาชีพในระบบรางในอนาคต (Advanced Technical Training) รวมถึงการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) เพื่อการขนถ่ายและกระจายสินค้าในระบบราง
การลงนามความร่วมมือระหว่าง สทร. และ หัวเว่ย ในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมระบบราง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลักดันประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)