นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด เปิดเผยว่า หัวเว่ย ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโต และร่วมสนับสนุนประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาค โดยหัวเว่ยจะมุ่งสร้างการเติบโตของ 5 หน่วยธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจผู้ให้บริการ (Carrier) ซึ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G หน่วยธุรกิจนี้มีเติบโตอย่างมั่นคง เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เติบโตเต็มที่และมีเสถียรภาพมากที่สุด
2. EBG หรือกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ (Enterprise) โดยนำเทคโนโลยีหัวเว่ยมาเสริมศักยภาพการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและเพิ่มคุณค่าขององค์กรธุรกิจแต่ละแห่งในแนวดิ่ง, 3. คลาวด์ หัวเว่ยเป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกที่เปิดตัวบริการคลาวด์ในราคาที่จับต้องได้ในประเทศไทย และขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการบริการคลาวด์ในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น, 4. เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง โดยในไทยอยู่ในช่วงการเริ่มต้นให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือก และ 5. ธุรกิจ Consumer ซึ่งเน้นไปที่อุปกรณ์แกดเจ็ตต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีและมีคุณประโยชน์หลากหลาย
ธุรกิจเหล่านี้มีวงจรธุรกิจที่ แตกต่างกัน บางธุรกิจมีขนาดใหญ่ บางธุรกิจอยู่ในจุดที่มั่นคง บางธุรกิจเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจของหัวเว่ยมีการผสมผสานที่ลงตัว ทั้ง 5 หน่วยธุรกิจ ประกอบไปด้วยธุรกิจดั้งเดิมที่มั่นคงและมีขนาดใหญ่และธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ บางธุรกิจมุ่งเน้นไปที่ฮาร์ดแวร์ในขณะที่บางธุรกิจมุ่งเน้นไปที่ซอฟต์แวร์ ดังนั้นเราจึงก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ เนื่องจากหน่วยธุรกิจของเราล้วนส่งเสริมซึ่งกันและกันและสร้างสมดุลที่ดีเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ
สำหรับตลาดประเทศไทยคาดการณ์การเติบโตในเชิงบวกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2566 โดยจะมุ่งขยายธุรกิจของหัวเว่ย โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์, กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ และ กลุ่มธุรกิจคลาวด์ ที่คาดว่าทุกหน่วยธุรกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง โดยแต่ละอุตสาหกรรมมีการเติบโตที่แตกต่างกัน สำหรับธุรกิจใหม่ ธุรกิจที่จะสร้างการพลิกโฉมที่น่าตื่นเต้นในอุตสาหกรรมคือธุรกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลและธุรกิจพลังงานใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว เรามีพร้อมทั้งเสถียรภาพการลงทุนและการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง ความต้องการด้านพลังงานแนวใหม่สำหรับที่อยู่อาศัยและองค์กรธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
“การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งเป็นโซลูชันที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะสามารถเข้าถึงบริการการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง และในปัจจุบันการสร้างการเติบโตและการอำนวยความสะดวกในกระบวนการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและเทคโนโลยีคลาวด์ เราจึงมั่นใจว่าธุรกิจทั้งสองกลุ่มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยากที่จะเปรียบเทียบว่าธุรกิจใดมีศักยภาพการเติบโตที่สูงกว่า”
นายเดวิด หลี่ กล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นในการต่อยอดการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเป้าหมายในการฝึกอบรมนักพัฒนากว่า 20,000 คน รวมไปถึงวิศวกรพลังงานสะอาดอีกกว่า 10,000 คนภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปี 2566 นี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าตามแผนฝึก อบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีกว่า 14,000 คนผ่านโครงการเรือธงอย่าง Huawei ASEAN Academy
"หลังจากรับตำแหน่งใหม่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเป็นประชาคมที่มีพลวัตรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ มากมาย แต่ผมก็รู้สึกว่าภูมิภาคนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก ในแง่ของความท้าทาย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลต้องใช้วิศวกรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพจำนวนมาก นี่คือเหตุผลที่หัวเว่ยทุ่มทรัพยากรทั้งกำลังคนและเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ในการยกระดับบุคลากรไอซีที เราเปิดตัวศูนย์ ICT Academy เพื่อบ่มเพาะศักยภาพด้านดิจิทัลของเหล่าพันธมิตรและผู้ติดตั้งระบบ รวมถึงผลักดัน ASEAN Academy และเพิ่มความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้ด้านไอซีที เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างงานและการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาสำหรับวิศวกรไทยในอนาคต, สตาร์ทอัพ, และพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย นับเป็นความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจที่น่าตื่นเต้นที่เราวางแผนจะลงทุนเพื่อให้สอดรับกับพันธกิจหลักของหัวเว่ย ‘เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย’ (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)"
หัวเว่ยเปิดเผยรายงานผลประกอบการประจำปี พ.ศ. 2565 โดยรายงานว่าบริษัทยังคงมีผลประกอบการที่มั่นคงตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทสามารถทำรายได้สูงถึง 642.3 พันล้านหยวน คิดเป็นผลกำไร 35.6 พันล้านหยวน ทั้งนี้ หัวเว่ยจะยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวเลขการลงทุนทั้งปีอยู่ที่ 161.5 พันล้านหยวนในปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนถึง 25.1% จากรายได้ทั้งปีของบริษัท และทำให้ยอดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงกว่า 977.3 พันล้านหยวน
ด้านนายอีริค สวี ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่าปี 2565 นั้น สภาพแวดล้อมภายนอกที่ท้าทายและปัจจัยอื่นๆ ของตลาดยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหัวเว่ย ท่ามกลางมรสุมในครั้งนี้ เรายังคงต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานเพื่อรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการให้บริการลูกค้า นอกจากนี้ เรายังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเติบโต สร้างรายได้ที่สมํ่าเสมอ เพื่อรักษาความอยู่รอดและวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต