สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รวบรวม นโยบายของประเทศและกลุ่มประเทศต่าง ๆ รวมทั้งความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ การกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) หลังมีแอปพลิเคชันเอไอต่างๆ เช่น ChatGPT ของบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ถูกพัฒนาออกมาใช้งานจนเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วและมีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายวงการ จนเกิดความท้าทายต่อการออกกฎหมายกำกับดูแล
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างความเคลื่อนไหวของนานาประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับการรับมือการใช้งานเทคโนโลยีเอไอ
ออสเตรเลีย
รัฐบาลออสเตรเลียกำลังหารือกับหน่วยงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อพิจารณาออกกฎระเบียบในขั้นต่อไป ตามข้อมูลของโฆษกรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ เมื่อเดือนเม.ย. 2566
อังกฤษ
องค์กร Financial Conduct Authority ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดแนวทางกฎระเบียบด้านเอไอในอังกฤษ กำลังหารือกับสถาบัน Alan Turing Institute และสถาบันด้านกฎหมายและวิชาการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านเทคโนโลยีเอไอ
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมี.ค. ทางการอังกฤษวางแผนแบ่งความรับผิดชอบด้านการกำกับดูแลเอไอ ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชน สุขภาพและความปลอดภัย และด้านการแข่งขัน แทนการจัดตั้งองค์กรใหม่ด้านเอไอโดยเฉพาะ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงาน Competition and Markets Authority ของอังกฤษเผยว่า จะเริ่มตรวจสอบดูผลกระทบของเอไอต่อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และพิจารณาว่าจะต้องมีกฎระเบียบควบคุมใหม่ๆหรือไม่
จีน
รัฐบาลจีนกำลังหาแนวทางเพื่อออกกฎกำกับดูแลเอไอภายในประเทศ ตามการเปิดเผยของนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซีอีโอบริษัทเทสลา หลังจากที่เขาเข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ของจีนเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนเม.ย.2566 หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน เผยถึงร่างกฎระเบียบเพื่อจัดการเอไอ โดยกล่าวว่า ทางการจีนต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ส่งผลการประเมินความปลอดภัยให้ทางการก่อนที่จะเปิดให้บริการเอไอต่อสาธารณชน นอกจากนี้ เมื่อเดือนก.พ. องค์กรด้านเศรษฐกิจและข้อมูลสารสนเทศของจีนประกาศว่า จีนจะสนับสนุนบริษัทชั้นนำภายในประเทศให้สร้างต้นแบบเอไอเพื่อแข่งกับ ChatGPT ของโลกตะวันตก
ฝรั่งเศส
เมื่อเดือนเม.ย.2566 หน่วยงาน NCIL ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังด้านความเป็นส่วนตัวของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า กำลังตรวจสอบคำร้องเกี่ยวกับ ChatGPT หลังอิตาลีสั่งห้ามใช้โปรแกรมดังกล่าวชั่วคราว หลังสงสัยว่า ChatGPT อาจละเมิดกฎความเป็นส่วนตัว
ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมี.ค. สภานิติบัญญัติฝรั่งเศสอนุมัติให้มีการใช้ “กล้องวงจรปิดเอไอ” ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกในปีหน้า(2567) ท่ามกลางความกังวลจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
ไอร์แลนด์
เมื่อเดือนเม.ย. เฮเลน ดิกซัน คณะกรรมาธิการด้านคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ กล่าวว่า เอไอจะต้องถูกกำกับดูแล แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม และต้องไม่เร่งออกกฎสั่งห้ามที่อาจไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
อิสราเอล
ซิฟ แคทเซอร์ ผู้อำนวยการด้านแผนเอไอของหน่วยงานด้านนวัตกรรมอิสราเอล เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า อิสราเอลได้ออกแบบกฎการควบคุมเอไอในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
ทั้งนี้ เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา (2565) อิสราเอลเผยแพร่ร่างนโยบายเอไอความยาว 115 หน้า และกำลังรวบรวมความเห็นจากสาธารณะก่อนที่จะสรุปนโยบายฉบับนี้
อิตาลี
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิตาลีเผยว่า หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของอิตาลีมีแผนทบทวนแพลตฟอร์มเอไอและจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ โดยก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมี.ค. หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอิตาลี ได้ออกคำสั่งห้ามใช้แอปพลิเคชัน ChatGPT เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะกลับมาอนุญาตให้ประชาชนใช้ได้อีกครั้งในเดือนเม.ย. โดยให้เหตุผลว่าแอปฯดังกล่าวอาจละเมิดความเป็นส่วนตัว
ญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยด้านข้อมูลของญี่ปุ่นกล่าวว่า ได้เตือนไม่ให้ OpenAI เก็บข้อมูลอ่อนไหวโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ลดจำนวนข้อมูลอ่อนไหวที่ถูกเก็บรวบรวม โดยทางกลุ่มอาจดำเนินการต่อไปหากมีความกังวลเพิ่มเติมในเรื่องนี้
สเปน
เดือนมิ.ย.นี้เองที่องค์กรคุ้มครองข้อมูลของสเปนเปิดเผยว่า กำลังสืบสวนเบื้องต้นว่าแอปฯ ChatGPT ได้มีการละเมิดข้อมูลหรือไม่ และขอให้หน่วยงานเฝ้าระวังด้านความเป็นส่วนตัวของอียู ประเมินข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวต่อ ChatGPT
สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ลินา ข่าน ประธานคณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐกำลังใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อตรวจสอบการใช้งานเอไอที่อาจเป็นอันตราย ทั้งนี้ เมื่อเดือนเม.ย. วุฒิสมาชิกไมเคิล เบนเน็ต ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจด้านนโยบายเอไอ และเพื่อกำหนดวิธีลดภัยคุกคามจากเอไอต่อความเป็นส่วนตัว เสรีภาพพลเมือง และกระบวนการทางกฎหมาย
ในเดือนเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า กำลังรับฟังความเห็นจากสาธารณะต่อมาตรการเพื่อกำหนดความรับผิดชอบของระบบเอไอ
กลุ่มจี 7
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2566 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น รับทราบถึงความจำเป็นในการควบคุมเอไอและเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง พร้อมตกลงให้รัฐมนตรีหารือถึงประเด็นเอไอ และรายงานผลการหารือภายในสิ้นปีนี้ (2566)
นอกจากนี้ เมื่อเดือนเม.ย. รัฐมนตรีดิจิทัลของประเทศกลุ่มจี 7 เปิดเผยหลังการประชุมที่ญี่ปุ่นว่า ชาติสมาชิกจี 7 ควรมีแผนกำกับดูแลเอไอที่มีพื้นฐานจากการประเมินความเสี่ยง
สหภาพยุโรป(อียู)
31 พ.ค. 2566 มาร์เกร็ธ เวสทาเกอร์ รองประธานบริหารของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านดิจิทัล ระบุว่า สหรัฐและอียูควรผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเอไอนำจรรยาบรรณมาปรับใช้ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเธอเชื่อว่า ร่างจรรยาบรรณจะมีขึ้นได้ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ และร่างฉบับสุดท้ายเพื่อรอให้บริษัทต่าง ๆ มาลงนาม ควรมีขึ้น “ภายในเร็ววัน”
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สมาชิกสภาอียูยอมรับหลักการของร่างกฎระเบียบเพื่อควบคุมเอไอ และเสนอกฎห้ามใช้เอไอตรวจจับใบหน้า โดยสภายุโรปมีกำหนดลงคะแนนร่างกฎหมายด้านเอไอภายในเดือนมิถุนายนนี้
ในส่วนขององค์กรพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในยุโรป ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับ ChatGPT และโปรแกรมแชตบอทเอไออื่น ๆ โดยเรียกร้องต่อหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของอียูให้ตรวจสอบเทคโนโลยีและความเสี่ยงที่เอไออาจมีต่อประชาชน
จะเห็นได้ว่าการรับมือและจัดเตรียมนโยบายกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีเอไอในแต่ละประเทศหรือกลุ่มประเทศอยู่ในขั้นตอนแตกต่างกันไป บางประเทศเพิ่งเริ่มต้นเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลปัญหาและผลกระทบ บางประเทศหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างกฎหมาย วางกรอบการควบคุมดูแลเอไอ สะท้อนชัดว่าความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบของเอไอได้เกิดขึ้นแล้ว และการกำกับดูแลจะชัดเจนมากขึ้นและถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง