อีลอน มัสก์ ประกาศเปิดตัว TruthGPT ท้าชนคู่แข่งแชตบอททุกสังเวียน

20 เม.ย. 2566 | 00:30 น.

อีลอน มัสก์ เตรียมส่ง TruthGPT (ทรูธจีพีที) ท้าชนคู่แข่งแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เปิดตัวมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นของไมโครซอฟต์หรือกูเกิล  

 

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีโลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเทสลา และทวิตเตอร์ ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ ทรูธจีพีที (TruthGPT) หวังท้าทายคู่แข่งอย่าง แชตจีพีที (ChatGPT) ของบริษัทโอเพ่นเอไอที่ได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ และ บาร์ด (Bard) ของบริษัทกูเกิล

นายมัสก์ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อฟอกซ์ นิวส์ ที่ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.) ระบุว่า “ผมจะเริ่มบางสิ่งที่ผมเรียกว่า ทรูธจีพีที (TruthGPT) มันเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ค้นหาความจริงขั้นสุด และเป็นระบบที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของจักรวาล”

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีโลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเทสลา และทวิตเตอร์ ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ ทรูธจีพีที (TruthGPT)

การเคลื่อนไหวของมัสก์ครั้งนี้ มีขึ้นไม่นานหลังจากเขาร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์บริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแชตบอทปัญญาประดิษฐ์ ChatGPT ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทไมโครซอฟท์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว

นายมัสก์กล่าวหาว่า โอเพ่นเอไอฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้โกหกหลอกลวง และว่าบริษัทโอเพ่นเอไอได้กลายเป็นองค์กรที่ “แสวงหาผลกำไร” และ “เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับไมโครซอฟท์”

ถึงเวลาที่ต้องเปิดตัว TruthGPT เป็นทางเลือกที่สามแล้ว

นายมัสก์ไม่ได้หยุดปากแค่นั้น ในโอกาสเดียวกันนี้เขายังกล่าวหานายแลร์รี เพจ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทกูเกิล (Google) ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงๆจังๆ และยังบอกว่าแชตบอทปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อ “ทรูธจีพีที” ของเขาอาจเป็นหนทางสู่ความปลอดภัยที่ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่า แพลตฟอร์มของเขา “ไม่น่าจะทำร้ายมนุษย์ได้” นอกจากนี้ นายมัสก์ยังกล่าวเหมือนแก้ตัวกลายๆว่า “อาจดูเหมือนว่าเราเริ่มต้นช้า แต่ผมจะพยายามสร้างทางเลือกที่สามให้พวกคุณ”

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ได้พยายามติดต่อเพื่อขอความเห็นจากนายมัสก์ รวมทั้งความเห็นจากบริษัทโอเพ่นเอไอ และนายแลร์รี เพจ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับในช่วงเวลาที่รายงานข่าวชิ้นนี้

นายมัสก์ ยังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ TruthGPT มากนัก แต่รายงานข่าวระบุว่า บริษัทที่เป็นผู้พัฒนา TruthGPT เป็น บริษัทเทคโนโลยีชื่อ X.AI Corp ที่อีลอน มัสก์ เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

ไม่ได้ดังใจ พัฒนาเองซะเลย

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นายอีลอน มัสก์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบรรดาผู้บริหารในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ระงับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงพลังกว่า GPT-4 ซึ่งเป็นโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์รุ่นล่าสุดของบริษัท OpenAI เป็นเวลา 6 เดือน โดยอ้างเหตุผลว่า "เป็นความเสี่ยงต่อสังคมและมนุษยชาติ" 

จดหมายเปิดผนึกขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Future of Life Institute ลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญด้าน AI รวมทั้งบรรดาผู้บริหารในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 คน อาทิ นักวิจัยจากบริษัทดีพมายด์ (DeepMind) นายโจชัว เบนจิโอ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “เจ้าพ่อแห่งปัญญาประดิษฐ์” รวมทั้งนายมัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ระบบ AI ในการขับเคลื่อนอัตโนมัติ พวกเขาได้เรียกร้องให้ระงับการพัฒนา AI ไปจนกว่าจะมีการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับการออกแบบปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนา การนำไปปฏิบัติ และได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ

โดยบางส่วนของจดหมายเปิดผนึกนี้ ระบุว่า “ระบบปัญญาประดิษฐ์อันทรงพลังควรได้รับการพัฒนาเมื่อเรามั่นใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบเชิงบวก และความเสี่ยงที่มีอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้”

ความกังวลใจเกี่ยวกับ AI

รายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ยังอธิบายถึง "ความเสี่ยง" ที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อสังคมในแง่ที่ว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีการทำงานแข่งขันกับมนุษย์ จะทำให้เกิดการหยุดชะงักในด้านเศรษฐกิจและการเมือง พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้ผู้พัฒนา AI ทำงานร่วมกับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายภาครัฐในเรื่องการออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติม

อ้างอิงจากข้อมูลของหน่วยงานด้านความโปร่งใสของสหภาพยุโรป องค์กรไม่แสวงผลกำไร Future of Life Institute ได้รับเงินสนับสนุนหลักจากมูลนิธิ Musk Foundation, Founders Pledge และ Silicon Valley Community Foundation

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทโอเพ่นเอไอที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ GPT (Generative Pre-trained Transformer) รุ่นที่ 4 ในชื่อ GPT-4 ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับผู้ใช้งานด้วยศักยภาพอันหลากหลาย ตั้งแต่การตอบโต้ด้วยการสนทนาคล้ายมนุษย์ไปจนถึงการประพันธ์เพลงและสรุปความเอกสารยาวเหยียดได้ดังใจ

ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญญาประดิษฐ์นี้ มีขึ้นหลังจากยูโรโพล แสดงความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว และเตือนถึงโอกาสการนำไปใช้ในทางที่ผิด อย่างเช่น การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบฟิชชิง การนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน และอาชญากรรมไซเบอร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษยังได้เสนอกรอบการกำกับดูแล AI ขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นการล้อมคอกป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีนี้