นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKYเปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือ KMUTT ในการร่วมกันพัฒนานักศึกษาสู่การเป็น Tech Talent ที่ผ่านการปฏิบัติงานจริง และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานบัณฑิตหลังจบการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนางานบริการทางวิชาการ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต ตามปณิธานของสกาย ไอซีทีด้าน Tech Talent Transformation ที่มุ่งสร้าง Tech Talent สายเลือดใหม่เข้ามาเติมเต็ม Tech Ecosystem ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาประสบการณ์ดิจิทัลภายในท่าอากาศยาน (Digital Airport Experiences) แก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนการวิจัยและศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับการบริการภายในท่าอากาศยาน ร่วมกับ Edutainment Socio-Interaction Computing Lab (ESIC Lab) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อยกระดับการบริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้พร้อมก้าวสู่การเป็นท่าอากาศยานอัจฉริยะ (Digital Airport) รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ คือ Connecting Thailand
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือ KMUTT กล่าวว่า มจธ. มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ สร้างสรรค์งานวิจัย ผลิตบัณฑิต ไปจนถึงร่วมส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมตลอดมา ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กับมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ จะเข้ามาช่วยเชื่อมต่อการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการประยุกต์ใช้จริงได้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อมจริงได้เต็มศักยภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
ด้าน ผศ.ดร.ปริยกร ปุสวิโร ผู้อำนวยการ ESIC Lab มจธ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนครั้งนี้ สามารถทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างน้อย 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) การพัฒนานักศึกษาให้มีประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมภายนอกห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับการทำงาน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมได้หลังจากสำเร็จการศึกษา 2) การนำงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาบริการภายในท่าอากาศยาน เพื่อยกระดับท่าอากาศยานให้เป็นประตูด่านแรกของประเทศ ที่จะสร้างประสบการณ์อันดีให้กับนักท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ ภาคการศึกษามุ่งหวังว่าจะใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบุคลากรทางภาคการศึกษาที่มี เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมไปกับภาคอุตสาหกรรม 3) การต่อยอดองค์ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าอากาศยานอัจฉริยะ
ทั้งนี้ ดร.ปิยนิตย์ เวปุลานนท์ หัวหน้าวิจัย ESIC Lab มจธ. กล่าวว่า งานที่สำคัญที่ต้องพัฒนาสำหรับงานบริการอัจฉริยะในท่าอากาศยานคือ งานพัฒนาด้าน Activating Space for Digital Airport ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น การใช้เครือข่ายการตรวจจับแบบไร้สาย การระบุตำแหน่งผู้โดยสารภายในอาคารท่าอากาศยาน การนำทางผู้โดยสาร การเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่หลายหลายในพื้นที่ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ การประมวลผลแผนที่ด้วยระบบคลาวด์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมไปถึงงานวิจัยในลักษณะสหวิทยาการได้ในอนาคต ทั้งนี้ทุกองค์ความรู้จะเป็นความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับ Digital Airport Experiences แก่ผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานอย่างรอบด้าน