ไมโครซอฟท์ เปิดเผยรายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ “Cyber Signals” ฉบับที่ 3 ซึ่งรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มและทิศทางในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมมาจากสัญญาณความปลอดภัยมากกว่า 43 ล้านล้านรายการต่อวันของไมโครซอฟท์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวน 8,500 คน
โดยรายงานฉบับนี้มุ่งพิจารณาความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันตัวขององค์กร เมื่อระบบไอทีทั่วไปทำงานผสานกับ IoT (Internet of Things) และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการ (Operational Technology) โดยการจู่โจมที่เกิดขึ้นกับระบบเหล่านี้อาจส่งผลร้ายต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้
เทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการ (Operational Technology หรือ OT) คือการรวมกันของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในระบบที่ตั้งโปรแกรมได้ หรืออุปกรณ์ที่โต้ตอบกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพได้ ตัวอย่างเช่นระบบการจัดการอาคาร ระบบควบคุมอัคคีภัย และกลไกการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพ เช่น ประตูและลิฟต์ เป็นต้น
ด้วยการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นระหว่างระบบ IT, OT และ IoT ภาคองค์กรและส่วนบุคคลจำเป็นต้องหันมาพิจารณาความเสี่ยงทางไซเบอร์และผลกระทบที่จะตามมาหากเกิดเหตุร้ายขึ้นจริง ถ้าแล็ปท็อปหรือยานพาหนะที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ถูกขโมยไป อาชญากรผู้ลงมือก็อาจสามารถเข้าถึงระบบเครือข่ายที่บ้านได้ และหากอุปกรณ์ชิ้นนั้นเป็นขององค์กร ก็อาจทำให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถเข้าถึงระบบในโรงงานที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายแบบออนไลน์ เป็นต้น ส่วนระบบรักษาความปลอดภัยในอาคารอัจฉริยะ ก็อาจเปิดช่องให้ภัยคุกคามอย่างมัลแวร์หรือการจารกรรมทางอุตสาหกรรมก็เป็นได้
นายสรุจ ทิพเสนา ผู้อำนวยการฝ่ายโซลูชันองค์กร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ระบบ OT ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังองค์กรต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ต่างมีแนวโน้มที่จะเชื่อมต่อกับระบบไอทีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งที่เคยแยกจากกันอย่างชัดเจนนี้ กลับบางลง จนมีความเสี่ยงของการหยุดชะงักและความเสียหายเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ธุรกิจและผู้ประกอบการโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงจำเป็นจะต้องมองเห็นสถานการณ์ของระบบที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด พร้อมประเมินความเสี่ยงและความเชื่อมโยงกันของระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถตั้งรับได้อย่างมั่นใจ”
ข้อมูลเชิงลึกในประเด็นสำคัญจากรายงาน Cyber Signals ฉบับนี้ ได้แก่:
• ไมโครซอฟท์พบว่า กว่า 75% ของอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติในรุ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในระดับร้ายแรงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญ ในการปิดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุถึงขั้นต้องหยุดทำงาน
• การเผยช่องโหว่ที่มีความรุนแรงสูงในอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มสูงขึ้นถึง 78% ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 เมื่อวัดจากอุปกรณ์ของผู้ผลิตที่เป็นที่นิยมในตลาด1
• มีอุปกรณ์มากกว่า 1 ล้านเครื่อง ที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อย่างเปิดเผย และยังใช้ซอฟต์แวร์ Boa ซึ่งทั้งล้าสมัยและไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมแล้วในปัจจุบัน แต่กลับยังเป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มอุปกรณ์ IoT และในชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือบุคคลทั่วไป การรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์ IoT ด้วยแนวคิดแบบ Zero Trust ต้องเริ่มจากการเตรียมพร้อมที่ครอบคลุมความปลอดภัยในด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบพื้นฐานสำหรับการรักษาความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้ อุปกรณ์ และการจำกัดระดับการเข้าถึงข้อมูลและระบบต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าต้องทำการยืนยันตัวต้นผู้ใช้งานอย่างชัดเจน มองเห็นสถานะของอุปกรณ์ในเครือข่าย และตรวจจับความเสี่ยงแบบเรียลไทม์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ในภาวะที่ตลาด IoT/OT เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งการใช้งานภายในองค์กรเองหรือการใช้งานส่วนบุคคลของพนักงาน ยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หน่วยงานต่างๆจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบองค์รวม ที่สามารถเชื่อมการบริหารจัดการ IT, IoT, และ OT เข้าหากันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทีมงานที่มีอยู่จำกัดให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพสูงสุด