รศ.ดร.ณรงค์เดช สุรโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความ ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ผ่านมาเว็บไซต์ กสทช.เผยแพร่รายงงานการประชุม กสทช.นัดพิเศษ 5/265 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค วันเดียวกับที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ในคดีที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ฟ้องเพิกถอนมติของ กสทช.จึงถือโอกาสศึกษาเรื่องดังกล่าวไปในคราวเดียวกัน
ตั้งข้อสังเกต 2 ข้อความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พบว่า การพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค ของ กสทช. นั้น น่าจะมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายในแง่รูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น (Procedural Impropriety) ปรากฏชัดในรายงานการประชุม กสทช. อย่างน้อย 2 ประการ อันได้แก่
1.กสทช. มิได้วินิจฉัยปัญหาเบื้องต้นก่อนพิจารณาลงมติ “รับทราบและกำหนดเงื่อนไข”
1.1 เพราะในการพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น บางกรณี กฎหมายจะกำหนดไว้ชัดว่า เจ้าหน้าที่ต้องนำเอกสาร/ความเห็น/ข้อมูลใด มาใช้ประกอบการพิจารณา หากเจ้าหน้าที่ไม่นำเอกสาร ฯลฯ ดังกล่าว มาใช้ ย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ เป็นเหตุให้การออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
1.2 กสทช. ต้องพิจารณา “ความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจ” ของที่ปรึกษาอิสระ
เมื่อจะมีการรวมธุรกิจ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการ กำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ลงราชกิจจานุเบกษา 19 มกราคม 2561 (“ประกาศ 2561”) กำหนดให้ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต ยื่นรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. จากนั้น เลขาธิการ กสทช. ต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติตามภาคผนวกของประกาศ 2561 ให้จัดทำความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจ โดยให้ผู้ยื่นขอรวมธุรกิจเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ประกาศ 2561 ข้อ 12 กำหนดว่า “ให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณา กำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ”
เห็นได้ว่า การรายงานของเลขาธิการนั้น อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(ก) รายงานของเลขาธิการ
(ข) รายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาต และ
(ค) ความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจของที่ปรึกษาอิสระ
นี่คือ เอกสารที่ ประกาศ 2561 กำหนดให้ กสทช. ต้องนำมาใช้ในการพิจารณารับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการรวมธุรกิจสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ กสทช. อาจใช้ดุลพินิจแสวงหาเอกสาร/ความเห็น/ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ มาพิจารณาเพิ่มเติมอีกก็ได้4 หากเห็นว่า เอกสารฯลฯ ที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น ยังให้ข้อมูลไม่เพียงพอ หรือต้องการสอบทานความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอื่น เป็น second opinion ทั้งนี้ ภายใต้ข้อสังเกต 2 ข้อ คือ
(1) ประกาศ 2561 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้จัดทำเอกสาร/ความเห็น/ข้อมูลจากแหล่งอื่นไว้ ดังนั้น กสทช. พึงพิจารณาใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วยความระมัดระวังยิ่ง และถ้าจะให้ดี สมควรจัดหาบุคคลผู้จัดทำเอกสารที่มีคุณสมบัติเฉกเช่นเดียวกับที่ปรึกษาอิสระ
(2) เอกสารข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เป็นเพียงข้อมูลเสริม เพื่อให้เกิดความหลากหลาย สมบูรณ์และถ่วงดุลกันเท่านั้น ไม่อาจนำมาใช้แทนที่ “การรายงานของเลขาธิการ” ทั้ง (ก) (ข) และ (ค) ได้
1.3 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ
1.4 กสทช. มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ และความปราศจากอคติในการจัดทำความเห็น
นี่คือ หน้าที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการก่อนการออกคำสั่งทางปกครอง ดังที่ศาลปกครองสูงสุดอธิบายไว้ในคำพิพากษาที่ อ.341/2553 ซึ่งสรุปเป็นหลักกฎหมายได้ว่า7
เมื่อมีการโต้แย้งหรือคัดค้านเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องชะลอหรือหยุดที่จะออกคำสั่งทางปกครองไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบหลักฐานทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนเสียก่อน หากมีการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ดำเนินการดังกล่าว ย่อมขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
หาก กสทช. วินิจฉัยว่า ที่ปรึกษาอิสระขาดคุณสมบัติ หรือความเห็นดังกล่าวทำขึ้นโดยมีอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อน กสทช. ก็ไม่อาจนำ “ความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจ” ของที่ปรึกษาอิสระดังกล่าวมาใช้พิจารณาได้
กรณีเช่นนี้ กสทช. มีหน้าที่ต้องสั่งการให้ เลขาธิการ กสทช. แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระรายใหม่ที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน และให้จัดทำความเห็นฉบับใหม่
แต่หาก กสทช. วินิจฉัยว่า ที่ปรึกษาอิสระไม่ขาดคุณสมบัติ และความเห็นมิได้ทำขึ้นโดยมีอคติ กสทช. ก็สามารถเดินหน้าพิจารณา “รับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ” ในการรวมธุรกิจ ตามประกาศ 2561 ต่อไปได้
1.5 กสทช. ไม่ได้วินิจฉัยข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ
คำถาม หากคณะอนุฯที่ปรึกษากฎหมาย เห็นว่า ขาดคุณสมบัติ กสทช. ท่านจะทำอย่างไร ก็ในเมื่อพิจารณาการรายงานการรวมธุรกิจ ซึ่งต้องพิจารณาควบคู่กับความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว
หรือสมมุตว่า ความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ ทำขึ้นโดยมีอคติ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ผลการศึกษาวิเคราะห์ผิดพลาด คลาดเคลื่อน แต่ กสทช. นำข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าว มาใช้เป็นฐานในการพิจารณากำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไปแล้ว
กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า กสทช. ละเลยต่อหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยประเด็นปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ และความปราศจากอคติในการจัดทำความเห็น ก่อนการพิจารณาประเด็นหลักของเรื่อง คือ การรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการรวมธุรกิจ
ดังนั้น การพิจารณาของ กสทช. ดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
2. มติ “รับทราบ” การรายงานการรวมธุรกิจ ของ กสทช. ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
2.1 องค์กรกลุ่ม (Collegial Body)
ในการพิจารณาของ กสทช. ไม่ปรากฏปัญหา 3 ประเด็นแรก
แต่สำหรับประเด็นที่ 4 มติของ กสทช. นั้น ผู้เขียน เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
2.2 “มติ” ที่มีผลบังคับตามกฎหมาย
การมีผลบังคับตามกฎหมายของ “มติ” ที่ประชุมนั้น ขึ้นอยู่กับว่า กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการได้รับคะแนนเสียงไว้อย่างไร ดังที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอธิบายไว้ในเรื่องเสร็จที่ 1178/2558 ว่า
“โดยทั่วไปหลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียงนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
(1) เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น การงดออกเสียงลงคะแนนหรือไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียงจึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้
(2) เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดให้เกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น เช่น สองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิกหรือกรรมการทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยู่ ในกรณีนี้การหามติของที่ประชุมจึงต้องให้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีผู้ลงคะแนนเสียงเท่าใด มาประชุมเท่าใด หรืองดออกเสียงเท่าใด คะแนนเสียงที่จะถือเป็นมติได้ต้องได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น”
เช่นเดียวกับศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ในคำพิพากษาที่ อ.632/2562 ว่า
“หลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียง นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ เสียงข้างมากแบบธรรมดา หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น การงดออกเสียงลงคะแนนหรือไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียงจึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้ และเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดให้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น”
กรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้ง
กรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด มติในเรื่องดังกล่าวถือเป็น “เสียงข้างมากเด็ดขาด” คือ จะต้องมีกรรมการออกเสียงลงคะแนน “เห็นชอบ” ด้วย ถึงจำนวนกึ่งหนึ่ง เช่น ถ้าคณะกรรมการมีทั้งหมด 5 คน ต้องมีกรรมการออกเสียง “เห็นชอบ” ถึง 3 คน จึงจะถือว่าเป็น “มติของคณะกรรมการที่มีผลทางกฎหมาย”
หากมีคะแนนเสียง “ไม่ถึง” จำนวนที่กฎหมายกำหนด ย่อมเท่ากับเป็นการ “ไม่เห็นชอบ” ในเรื่องที่เสนอต่อคณะกรรมการ หรือยังไม่อาจหาข้อยุติในประเด็นที่มีความขัดแย้งนั้น ๆ ได้
อนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายหรือกฎ กำหนดหลักเกณฑ์การมีผลของมติไว้เป็นการเฉพาะ ย่อมต้องถือตามหลักทั่วไปที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82 แห่งพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 คือ อาศัยเสียงข้างมากแบบธรรมดา
2.3 การงดออกเสียง
หากกฎหมายกำหนดว่า ต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ตราบใดที่ยังไม่ได้คะแนนเสียงของ “กรรมการ” เห็นชอบถึงกึ่งหนึ่ง ตราบนั้น ก็ยังไม่ถือว่า คณะกรรมการมีมติ “เห็นชอบ” ในเรื่องนั้น
เช่น กรรมการทั้งหมด 9 ท่าน มาประชุม 5 ท่าน เกินกึ่งหนึ่งเป็นองค์ประชุม ถ้ากรรมการ เห็นชอบ 4, งดออกเสียง 1, จะถือว่า คณะกรรมการมีมติเห็นชอบ ไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ ต้องให้กรรมการทั้ง 5 ท่านที่มาประชุมลงมติ “เห็นชอบ” ทุกท่านเท่านั้น จึงจะเป็นมติที่มีผลตามกฎหมาย
2.4 การออกเสียงชี้ขาดโดยประธาน
ปกติ แล้ว กรรมการหนึ่งคน ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ 1 เสียง
ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน เพื่อหาข้อยุติ กฎหมายหลายฉบับจึงให้อำนาจแก่ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด12 อย่างไรก็ดี การออกเสียงชี้ขาดโดยประธานนี้ ถือเป็นข้อยกเว้น ซึ่งจะมีผลตามกฎหมาย ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์การมีมติขององค์กรกลุ่มข้างต้น ดังนี้
กรณีเสียงข้างมากธรรมดา เมื่อมีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานย่อมจะออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งชี้ขาดได้เลย และถือเป็นมติที่มีผลทางกฎหมาย ดังเช่นที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้ในหลายคดี อาทิ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ.102/2563 หน้า 30-31.
กรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ประธานกรรมการ มีสิทธิออกเสียงใน 2 สถานะ คือ สถานะ “กรรมการ” คนหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งแรก และสถานะ “ประธานกรรมการ” เพิ่มอีกเสียงหนึ่ง เมื่อการลงคะแนนครั้งแรกได้เสียงเท่ากัน เพื่อชี้ขาด13 และกรณีเช่นนี้ เป็นหน้าที่ของประธานที่ต้องออกเสียงชี้ขาด14
อย่างไรก็ดี กรณีเสียงข้างมากเด็ดขาด การออกเสียงชี้ขาดของ “ประธาน” จะมีผลก็ต่อเมื่อ ผ่านหลักเกณฑ์ ได้คะแนนเสียงของกรรมการครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วเท่านั้น
มิเช่นนั้นแล้ว ย่อมขัดต่อบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่กำหนดให้ มติดังกล่าว “ต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด” และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จำแนกการมีมติของคณะกรรมการในเรื่องต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็นเสียงข้างมาก แบบธรรมดา และแบบเด็ดขาด ตามระดับความสำคัญของเรื่องนั้น ๆ15
2.5 ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ข้อ 41 กำหนดว่า
“การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมตามความในข้อ 40 วรรคสอง ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 (19) (23) และ (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58 ให้ใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุม
(2) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นตามความใน (1) ต้องได้รับมติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
หากคณะกรรมการเห็นว่าประเด็นใดตามความใน (1) เป็นประเด็นสำคัญอาจกำหนดให้ประเด็นนั้นต้องได้รับมติพิเศษก็ได้
ในการวินิจฉัยชี้ขาด ให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”
2.6 แนวทางปฏิบัติของ กสทช. เมื่อมีคะแนนเสียงเท่ากันในกรณีมติพิเศษหรือเสียงข้างมากเด็ดขาด
ที่ผ่านมา เคยมีช่วงเวลาที่ กสทช. มีกรรมการทั้งหมด 6 ท่าน ในการประชุมครั้งที่ 9/256316 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 วาระที่ 5.2.1317 และวาระที่ 5.4.118 กรรมการเห็นชอบ 3, ไม่เห็นชอบ 3, ประธานจึงออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เนื่องจาก การออกเสียงของกรรมการในชั้นต้น ได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด คือ 3 เสียง ตามระเบียบการประชุม ข้อ 41 (2) แล้ว ดังนั้น การออกเสียงชี้ขาดของประธาน จึงส่งผลให้การลงมติพิเศษดังกล่าวเป็น “มติที่มีผลบังคับตามกฎหมาย”
อย่างไรก็ดี การพิจารณาวาระที่ 5.3.519 ในการประชุมครั้งเดียวกันนั้น กรรมการ 1 ท่านแจ้งไม่ขอร่วมพิจารณาวาระนี้ จึงเหลือกรรมการที่พิจารณาวาระนี้เพียง 5 ท่าน
การลงมติในชั้นต้นว่า จะนำประเด็นต่าง ๆ ที่สำนักงาน กสทช. เสนอ มาวินิจฉัยชี้ขาดหรือไม่ กรรมการเห็นชอบ 4, ไม่เห็นชอบ 1, ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ผลคือ ให้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้ต่อไปได้
ส่วนการลงมติในรายละเอียดของเรื่องนั้น กรรมการออกเสียงในแต่ละประเด็น แบ่งออกเป็น 2 ต่อ 2 ที่ประชุมจึงสรุปว่า
“อนึ่ง เนื่องจาก การลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน มติ ๒ : ๒ กรณีจึงไม่เข้าตามข้อ ๔๑ (๒) ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. ๒๕๕๕ กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นใน (๑) ต้องได้รับมติพิเศษ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ดังนั้น ประธานที่ประชุมจึงยังไม่ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้ ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้... ส่งเรื่องนี้ให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. พิจารณาให้ความเห็น... ก่อนนำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ”20
แต่ต่อมา ในการประชุมครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 วาระที่ 5.3.6 ได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง กรรมการที่เคยถอนตัวได้เข้าร่วมพิจารณาและลงมติในครั้งนี้ ทำให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด คือ 3 เสียง21 ครบเงื่อนไของมติพิเศษ จึงเป็นมติที่มีผลบังคับตามกฎหมาย
แม้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ไม่เคยวินิจฉัยในประเด็นนี้ แต่ก็ยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่า บุคคลผู้เป็นกรรมการ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 9/2563 วาระที่ 5.3.5 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เมื่อมีข้อโต้แย้งทางกฎหมาย จึงตัดสินใจไม่ใช้อำนาจประธานออกเสียงชี้ขาด และส่งเรื่องไปปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายก่อน
แต่ในการประชุม นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 กลับเดินหน้าออกเสียงชี้ขาด โดยมีผู้บริหารสำนักงาน กสทช. บางท่าน ยืนยันว่า การลงมติพิเศษ เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน 2:2 ประธานออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้22 ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ กสทช. ในอดีต เคยประพฤติปฏิบัติมา
และที่สำคัญ มี กสทช. 2 ท่าน ยืนยันว่า ทำไม่ได้ และเห็นว่า “เป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยระเบียบฯ”23
2.7 การ “รับทราบ” การรายงานการรวมธุรกิจ ต้องได้มติพิเศษ จึงจะเป็น “มติที่มีผลบังคับตามกฎหมาย”
3. ส่งท้าย
เอกสารแนบท้าย : ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการพิจารณา-ทรู-ดีแทค