ศาลปกครอง ยกคำร้อง สภาองค์กรของผู้บริโภคฯ ขอให้ชะลอควบรวมทรู-ดีแทค

10 ธ.ค. 2565 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 21:38 น.
1.1 k

ศาลปกครอง ยกคำร้อง สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ชะลอการควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค เป็นผลให้ทรู-ดีแทค เดินหน้าตามแผนการจัดตั้งบริษัทใหม่ได้

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยคำร้อง ของสภาองค์กรของผู้บริโภคกับพวกรวม 5 คน ที่ให้ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งอาจมีผลทำให้การรวมธุรกิจทรูและดีแทคจะต้องชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษานั้น

 

ผู้สื่อข่าาวรายงานว่า ล่าสุด ศาลวินิจฉัยโดยพิจารณาถึงอำนาจการมีมติของคณะกรรมการกสทช.ที่รับทราบการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค โดยเห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะว่า ไม่มีเหตุจะรับฟังได้ว่ามติดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง

 

และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก เนื่องจากไม่มีผลทำให้คำสั่งเปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งยกคำขอ ส่งผลให้แผนการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค ยังคงเดินหน้าต่อไปตามกรอบเวลา
 

ศาลปกครอง ยกคำร้อง  สภาองค์กรของผู้บริโภคฯ ขอให้ชะลอรวมทรู-ดีแทค

 

สำหรับรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในประเด็นมติรับทราบการรวมธุรกิจทรู-ดีแทคโดยเห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งเป็นผลให้ศาลยกคำขอทุเลาชั่วคราวที่สภาองค์กรของผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นั้น ศาลวินิจฉัยในประเด็น หลัก 4 ประเด็น ดังนี้


ประเด็นที่ 1 ศาลวินิจฉัยว่า การลงมติชี้ขาดของประธาน กสทช. เพิ่มอีกเสียงหนึ่ง หลังที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2 นั้น เป็นอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบการประชุมฯ ที่ให้อำนาจประธาน กสทช. สามารถออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ดังนั้นมตินี้ ถือเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดของ กสทช. ทีมีคะแนนเสียง 3 เสียงซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนกรรมการทั้งหมดแล้ว ตามข้อ 41 วรรคหนึ่ง (2) ของระเบียบดังกล่าว

 

ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุที่รับฟังว่าการออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งของประธาน กสทช. เป็นการกระทำที่น่าจะขัดต่อข้อ 41 วรรคหนึ่ง (2) ของระเบียบการประชุมฯ

 

ประเด็นที่ 2 การแปลความว่า การรวมธุรกิจทุกกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.หรือไม่นั้น
ศาลวินิจฉัยว่า ข้อ 8 ของประกาศผูกขาดฯ 2549 ซึ่งเป็นกรณีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันโดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการรวมธุรกิจ

 

ซึ่งข้อ 3 และข้อ 5 ของประกาศการรวมธุรกิจฯ 2561 แบ่งการรวมธุรกิจเป็น 3 แบบ ได้แก่ การรวมธุรกิจโดยการรวมกันแล้วเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ การรวมธุรกิจโดยการเข้าซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินของผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่อาจแปลความว่าการรวมธุรกิจทุกกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.
 

นอกจากนี้ เจตนารมณ์ ของประกาศผูกขาดฯ 2549 เป็นเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเข้าถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยไม่ต้องไปขออนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศผูกขาดฯ 2549 อีก

 

จึงสอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น และ ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใดก็ตาม ประกาศข้างต้นมิได้ห้ามหรือปิดกั้นมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการรวมธุรกิจหรือการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างสิ้นเชิง หากได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขและมาตรการที่ กสทช. กำหนด

 

ดังนั้น การที่ กสทช. มีมติรับทราบโดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและประกาศการรวมธุรกิจฯ 2561 แล้ว ในชั้นนี้ยังไม่มีเหตุความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ประเด็นที่ 3 ศาลวินิจฉัยถึงผลกระทบของการรวมธุรกิจว่า เมื่อ กสทช. มีมติรับทราบการรวมธุรกิจโดยเห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้ทรูและดีแทคต้องดำเนินการทั้งก่อนและภายหลังการรวมธุรกิจ และยังได้กำหนดกลไกติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจไว้อย่างชัดเจนแล้ว

 

ดังนั้นศาลวินิจฉัยว่า ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนแล้ว เห็นว่ามีผลกระทบหรือฝ่าฝืนมาตรการที่กสทช.ระบุ กสทช. มีอำนาจระงับการกระทำ ยกเลิก เพิกถอน ปรับ เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นได้ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคมฯ และประการผูกขาดฯ 2549 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้

 

ประเด็นที่ 4 คำขอห้ามหรือระงับการกระทำนิติกรรมที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และคำขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการชะลอหรือระงับการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบบริษัทของทรูและดีแทคไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

 

รวมถึงให้นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ชะลอหรือระงับการรับจดทะเบียนและการดำเนินการควบบริษัทของผู้ร้องสอดทั้งสองไว้จนกว่าศาลจะมีพิพากษา นั้น


ศาลวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นการฟ้องขอเพิกถอนมติรับทราบ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง คือให้ชะลอมติรับทราบไว้เท่านั้น นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ นายทะเบียนบริษัทมหาชนฯ มิได้เป็นคู่กรณีในคดีนี้ และมิใช่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจควบคุมกำกับดูแลตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ

 

ดังนั้น จึงเป็นคำขอ ที่นอกเหนือจากการขอให้ทุเลาการบังคับตามมติรับทราบ จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ตามข้อ 70 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ

 

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวที่ให้ยกคำร้องขอทุเลา ชั่วคราวปรเด็นมติรับทราบการรวมธุรกิจทรู-ดีแทคโดยเห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ จึงส่งผลให้การดำเนินการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค สามารถดำเนินการตามกรอบเวลาได้ต่อไป