‘เสียดายแดด’จุดประกาย โคกอีโด่ย วัลเลย์ อุบลราชธานี

12 ธ.ค. 2565 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 17:53 น.
3.7 k

“ปัญหาสร้างปัญญา” วัดป่าศรีแสงธรรม ตั้งอยู่ที่บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อที่ตั้งก็บอกในตัว ว่าเป็นบ้านชายขอบในดงดอนป่าดิบของอีสาน ที่ห่างไกล “โอกาส” หลากหลาย แต่สามารถสร้างขุมปัญญาพลังแสงแดดให้สังคม

‘เสียดายแดด’จุดประกาย โคกอีโด่ย วัลเลย์ อุบลราชธานี

ทำให้พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร) เจ้าอาวาส จุดประกายจะจัดตั้ง “โรงเรียน” สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ลูกหลานชาวบ้าน บนฐานวิทยาการสมัยใหม่สร้างคุณภาพชีวิตอย่างพอเพียง

 

คิดแล้วทำทันที เท่าที่มีกำลัง ชวนนักเรียนช่วยกันสร้างโรงเรียนบ้านดิน ขาดแคลนอุปกรณ์ของใช้ก็รับบริจาคของมือสองมาซ่อมใช้งาน

รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์เก่าชำรุด ใช้ประสบการณ์ฝีมือช่างซ่อมแซมแก้ไข เพราะ “เสียดายแดด” ที่เต้นระยิบเสมอหน้ากันไม่ว่าในเมืองหรือบ้านป่า

 

ผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้งานได้เองจนเหลือจากที่โรงเรียน ต่อไปใช้ที่วัดและกระจายไปถึงชุมชนรอบข้าง พัฒนาสู่โครงการปันแสง

พระปัญญาวชิรโมลี นามเดิม นพพร สู่เสน เกิด 9 กันยายน พ.ศ.2515 ที่อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

 

จบม.6 โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย บวชเป็นพระ ไปสอบนักธรรมชั้นเอก และจบปริญญาโท การบริหารการศึกษา จากม.สุโขทัยธรรมาธิราช

 

จากจุดเริ่มต้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ก็มีโจทย์ใหม่ที่ใหญ่กว่ามาท้าทายเป็นลำดับ ขณะที่ก็มีพันธมิตรและความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยแก้โจทย์เป็นเปลาะๆ เช่น กฟผ.เข้ามาพัฒนาระบบไมโครกริด และการบริหารจัดการพลังงานเข้ามาช่วย

 

ขยายการใช้ประโยชน์เพิ่มจากแสงสว่าง สู่การใช้พลังงานสร้างประโยชน์ในโครงการอื่นๆ อาทิ เครื่องสูบนํ้า รถเข็นนอนนา สร้างช่างฝีมือแผงโซลาร์เซลล์ จนบ้านดงดิบกลายเป็นหมู่บ้านที่มีความั่นคงทางพลังงาน

 

มีศูนย์การเรียนรู้และวิจัยการใช้ประโยชน์พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับชาวบ้าน และชุมชนท้องถิ่น ในรูปแบบต่าง ๆ จนถูกเรียกขานเป็น “โคกอีโด่ย วัลเลย์”

 

เริ่มต้นจากพระผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เสียดายแดด กลายเป็นจุดเช็คอินแบบบ้านๆ ในยุคก้าวสู่พลังงานสะอาด

 

พระปัญญาวชิรโมลี(นพพร)

เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม

 

คอลัมน์ สปอตไลต์ หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,843 วันที่ 11-14 ธันวาคม พ.ศ.2565