กรณีปลัดเทศบาลนครอุบลราชธานี และผู้อำนวยการส่วนคลัง ได้ เข้าแจ้งความตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท. หรือ ตำรวจไซเบอร์ ) เมื่อ 16 พ.ย. 2565 เพื่อให้สืบสวนหาคนผิด และติดติดตามเงินของเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่หายไปจากบัญชี จำนวน 39,042,839 บาท ซึ่งทางเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบและระงับบัญชีทั้งสองรายการแล้วนั้น
นายอาทิตย์ คูณผล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี รับผิดชอบสำนักคลัง เปิดเผยว่า พบความผิดปกติของบัญชี หลังจากที่ผู้รับผิดชอบด้านการคลัง รายงานรายการธุรกรรมการเงินของเทศบาลฯตามวงรอบปกติ ซึ่งจะมีสรุปรายงานประจำเดือน ประจำไตรมาส และประจำปี โดยครั้งนี้เป็นรายงานประจำเดือน พบว่าตัวเลขรายจ่ายในบัญชีเขย่งกันอยู 29 บาท จากปกติดต้องเท่ากัน
จึงมอบหมายนางมาลี ตัณฑิกุล ผู้อำนวยการสำนักคลัง ตรวจสอบกับทางธนาคาร พบว่ามีการทำรายการโอนเงินออกจากบัญชีของเทศบาลฯ ไปที่บริษัทจำหน่ายสินค้ารายหนึ่ง( ทำการตรวจสอบกับทางธนาคาร จึงพบว่ามีการลักลอบทำธุรกรรม โอนเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนชยางกูร บุญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 321-6-01456-8 และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่ 321-1-01278-8 เพื่อชำระสินค้ากับระบบจัดจำหน่าย sheeppo เลขที่ kt 2093 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2565-14 พ.ย.2565 โดยดำเนินการในช่วงวิกาล 3 ทุ่ม- 6 โมงเช้า รวม 2,029 ครั้ง เป็นเงิน 39,042,839 บาท
ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้รายงานหน่วยงานกำกับดูแลตามระเบียบ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตรวจเงินแผ่นดิน กรมบัญชีกลาง และสำนักนายกฯ ตั้งแต่เช้าวันที่ 15 พ.ย. 2565 ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า โดยปกติรายการโอนหากได้รับอนุมัติถูกต้อง ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้บริหารทราบ แต่การโอนครั้งนี้พบว่าไม่มีการแจ้งเตือนแต่อย่างใด
นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าในคดีต้องรอการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือที่ได้ยึดส่งตรวจอยู่ คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้น่าจะทราบความคืบหน้า
ขณะที่ในส่วนเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ตั้งกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวน ทั้งบุคคล ทั้งระบบ กระบวนการปฏิบัติราชการ ซึ่งส่วนเทศบาลได้ดำเนินการครบตามกระบวนการ ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นที่ระบบหรือตัวบุคคล
ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้สั่งบุคลากรส่วนคลัง ห้ามลา ห้ามขาด รวมทั้งการโยกย้ายรับโอน ให้ระงับไว้ก่อนทั้งหมด นอกจากมีความจำเป็นจริง ๆ จึงจะอนุญาตลาได้ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างพนักงาน สวัสดิการต่าง ๆ เปลี่ยนกลับมาเป็นการเขียนจ่ายเป็นเช็ค แทนการใช้ระบบ KTB Coperate Online ที่โอนจ่ายเข้าบัญชีแบบออนไลน์
ส่วนยอดเงินในหลังบัญชีหลังตรวจสอบครบถ้วนแล้ว พบว่าหายไปทั้งสิ้น 58 ล้านบาท ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ไปสอบสวนถึงเส้นทางเงินต่อไป
ด้านสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาขอรายงานเอกสารการเงินของเทศบาลฯ เพื่อส่งรายงานถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จะได้เข้ามาตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ โดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบอย่างคึกคัก เมื่อบ่ายวันที่ 21 พ.ย 2565 พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงการทุจจริต กรณีการจ่ายเงินของส่วนราชการผ่านระบบ KTB Coperate Online เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เจ้าของคดี
พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการ ป.ป.ท. มาติดตามเรื่องนี้ เพราะ ป.ป.ท.ได้เกาะติด ติดตามการทุจริต ผ่านระบบ KTB Coperate online มาโดยตลอด ในรอบปีมีหลายคดีแล้ว เกิดความเสียหายเยอะมาก
"เพื่อการป้องกันและปราบปราม ป.ป.ท. ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาแผนประทุษกรรมของการทุจริตลักษณะแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ถูกทุจริตลักษณะนี้ ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ท.พยายามหาแนวทางแก้ไข ร่วมกับทางธนาครกรุงไทย และกรมบัญชีกลาง ซึ่งใกล้จะเสร็จเรียบร้อย แต่ยังมาเกิดเหตุลักษณะนี้ที่เทศบาลนครอุบลราชธานีขึ้นอีก"
กรณีล่าสุดนี้มีความเสียหายสูง และพิเศษคือเป็นการทุจริตผ่านระบบออนไลน์ จึงได้ลงมาเก็บข้อมูลและประสานข้อมูล ในเบื้องต้นพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก ซึ่งจะได้นำกลับไปประกอบการแก้ไขทั้งระบบ เพื่อป้องกันการทุจริตลักษณะนี้อย่างยั่งยืน โดยแก้ไขเชิงระบบและที่ต้นเหตุ
ด้านการดำเนินคดี ทาง ป.ป.ท. จะสนับสนุนข้อมูลที่ได้ศึกษามาแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสอบสวนยืนยันตัว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตำรวจจะสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง
พ.ต.ท.สิริพงษ์ บอกอีกว่า ปัจจุบันการทุจจริตผ่านระบบบิ๊กดาต้า( Big data) หรือผ่านระบบ digital เพิ่มขึ้น ตามพัฒนาการของหน่วยงานรัฐที่ปรับเข้าสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งหากเราไม่ควบคุมดูแลให้ดีก็จะเกิดความเสียหายจำนวนมากอย่างที่เห็น โดยกรณีนี้สิ่งที่เห็นคือ ระบบไม่ได้บกพร่อง แต่อยู่ที่ตัวบุคคล เป็นเรื่องของการประมาทในเรื่องรหัส
ต่อข้อซักถามที่ว่า ผู้รับผิดชอบถือรหัสไม่ดำเนินการเอง แต่ให้คนอื่นถือระหัสแทนหรือไม่นั้น พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการสอบสวน ว่ามีใครบ้าง พฤติกรรมเป็นอย่างไร ทำหน้าที่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำได้พอสมควร อยู่ระหว่างการรอหลักฐานยืนยันก็น่าจะชี้ชัดได้แล้ว ว่ามีเจ้าหน้าที่คนไหนเกี่ยวข้อง หรือไม่ใช่เจ้าหน้าที่แต่เป็นคนนอกแฮกข้อมูล เชื่อว่าจะชัดเจนในเร็ว ๆ นี้
ขณะที่การสอบสวนของพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.รุ่งทวี. นาปาน สว.สส.(สอบสวน) เจ้าของคดี ได้เรียก นางสาวสินีนาฎ ปาทาน หัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชี เทศบาลนครอุบลราชธานี ไปทำการสอบสวนใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยไม่เปิดเผยการสอบสวนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ รหัสปลดล็อกระบบให้โอนจ่ายเงิน ตามระบบ KTB-Coperate online นั้น จะมีผู้ถือ 3 คน คือ ผอ.ส่วนคลัง และห้วหน้าส่วนอีก 2 ส่วน ซึ่งเวลานี้ได้สั่งระงับหมดแล้ว โดยเงินในบัญชีนี้เตรียมไว้ใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตอบแทน ค่าจ้างเงินเดือน
โดยผู้บริหารเทศบาลนครอุบลราชธานี ยืนยันว่า เวลานี้ยังไม่กระทบ เนื่องจากยังไม่ถึงรอบเบิกจ่ายค่าจ้างเงินเดือน รวมทั้งสถานภาพทางการเงินของเทศบาลฯมีความมั่นคงเพียงพอจะรองรับ แม้จะมีเงินหายจากบัญชีตามยอดดังกล่าว
ชลธิษ จันทร์สิงห์ : รายงาน