นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่ผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส 2 รายใหญ่ ลาซาด้า และช้อปปี้ หยุดสงครามเผาเงินค่าการตลาด แคมเปญ โปรโมชั่น เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์ม และเข้าสู่การทำกำไรจากธุรกิจมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ลาซาด้า มีการลดคน จ้างเอาท์ซอร์ซ เพื่อลดต้นทุน ลดงบการตลาดที่ใช้จัดแคมเปญลงมา ทำให้มีกำไร 2 ปีติดต่อกัน โดยมีรายได้ 20,675 ล้านบาท และกำไร 413 ล้านบาท ขณะที่บริษัทลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด ที่ใช้บริการโลจิสติกส์ ทำรายได้ 16,060 ล้านบาท และกำไรสูงถึง 2,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ ลาซาด้า ได้เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมบริการมาร์เก็ตเพลส เพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 2% โดยเริ่ม 1 ตุลาคมเป็นต้นไป และ มีแนวโน้มจะเก็บค่าการตลาด ค่าโฆษณาจากร้านค้าเพิ่ม ค่าฟรีบริการวอลเล็ค ล่าสุด ลาซาด้า ได้แต่งตั้งซีอีโอคนไทยคนแรก คือ นายวีระพงศ์ โก ขึ้นมาขับเคลื่อนทิศทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นลาซาด้า ทำกำไรจากธุรกิจจากบริการเดิม และบริการใหม่ๆอย่างเต็มที่
ส่วนช้อปปี้นั้นการดำเนินธุรกิจภายใต้กลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด และ บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีผลขาดทุนสะสมรวมกันถึง 16,388 ล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจของช้อปปี้ในหลาย ๆ ประเทศก็ไม่ได้เป็นไปตามคาด จึงมีการประกาศถอยทัพออกจากหลายประเทศ ได้แก่ ต้นเดือนมีนาคม ได้ประกาศเลิกกิจการในประเทศฝรั่งเศส หลังดำเนินธุรกิจได้เพียง 5 เดือน , ปลายเดือนมีนาคม ประกาศเลิกกิจการในประเทศอินเดีย หลังดำเนินธุรกิจได้เพียง 6 เดือน, ถอยทัพออกจากประเทศสเปน โดยหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดในวันที่ 17 มิถุนายน 2562
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท Sea Group บริษัทแม่ของ Shopee ได้ประกาศการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเลิกจ้างพนักงานในเครือช้อปปี้ ประเทศไทย ทั้งหมด 300 คน ใน 3 สังกัดบริษัท ได้แก่ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ช้อปปี้ ฟู้ด โดยการปรับลดโครงสร้างครั้งนี้ เป็นผลมาจากธุรกิจต้องการมุ่งเน้นการทำกำไรระยะยาว โดยการปรับลดพนักงานในครั้งนี้จะไม่กระทบกับการดำเนินงานหลักและไม่มีการยุบหน่วยบริการใด ๆ ของบริษัท
“สัญญาณนี้ เป็นการบ่งบอกว่าอีคอมเมิร์ซ ในกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลสของไทย กำลังเปลี่ยนผ่านจาก ช่วงการใช้เงินลงทุนมหาศาลในการ “สร้างตลาด” ผ่านการทำโฆษณา โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ส่งฟรี. เข้าสู่ ช่วง “การทำกำไร” แล้ว เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ทั้งฝั่ง “ผู้ค้า (Seller)” และ “ผู้ซื้อ (Buyer)” เริ่มเข้าใจการซื้อ-ขายผ่าน อีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบแล้ว ทำให้ อีมาร์เก็ตเพลส ไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงไปอัดกระตุ้นตลาดจำนวนมากอีกต่อไป รวมเวลาประมาณ 10 ปีของการเข้ามาของลาซาด้า ขาดทุนสูงถึง 15,000 ล้านบาท
นายภาวุธ กล่าวต่อไปอีกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดเกมเผาเงินของผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสมากสุด คือพ่อค้า แม่ค้า ร้านค้า หรือ แบรนด์ต่างๆ เพราะนอกจากมีการเรียกเก็บค่าธรรมบริการมาเก็ตเพลส เพิ่มแล้ว ต่อไปจะถูกเรียกเก็บค่าโปรโมตร้านค้า บริการระบบชำระเงินเพิ่ม รวมถึงต้องเป็นผู้ลงทุนจัดแคมเปญส่งเสริมการขายเอง ขณะที่ฝั่งผู้บริโภค จะไม่ได้ประโยชน์จากแคมเปญ หรือโปรโมชัน มากเหมือนกับช่วงที่ผ่านมาบางหมวดราคาสินค้าอาจสูงขึ้น เพราะร้านค้าต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้ค้าที่ต้องการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายอาจต้องยอมลดกำไร เพื่อนำมาเป็นส่วนลดโปรโมชันให้กับลูกค้า