Sea กางแผน 3 ธุรกิจ"เกม-อีคอมเมิร์ซ-การเงิน" หลังปรับโครงสร้างเข้าที่

20 ก.ค. 2565 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 18:32 น.
640

Sea ประเทศไทย กางแผน 3 ธุรกิจ การีน่า นำเข้าเกมระดับโลก พร้อมสร้างเกมโลคัลเอาใจเกมเมอร์ไทย ด้านช้อปปี้ ต่อยอดธุรกิจเสริมศักยภาพผู้ขาย จัดกิจกรรมเอาใจผู้ซื้อ ซีมันนี่ ออกสินเชื่อเพื่อคนตัวเล็ก ระหว่างรอรัฐเปิดไลเซนต์ใหม่

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา Sea (ประเทศไทย) มีการปรับโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความกระชับในการทำงาน พร้อมชะลอแผนธุรกิจบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพตลาด โดยธุรกิจทั้ง 3 ขาของ Sea ยังขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เผิดให้บริการในเมืองไทย และบริษัทฯ พร้อมขยายการลงทุนต่อทั้ง 3 ส่วนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม Sea Academy เสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

 

การีนา (Garena) มีแผนพัฒนาและต่อยอดเกมสู่กีฬาและอาชีพ รวมถึงสร้างอีโคซิสเต็มของอีสปอร์ต โดยที่ผ่านมา การีนา เติบโตอจากจำนวนผู้เล่นกว่า 654 ล้านคนจากกว่า 130 ตลาดทั่วโลก และหากมองการเติบโตย้อนหลังในช่วงปี 2017 – 2021 จำนวน Active Users มีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 65%

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจเกม-อีสปอร์ตยังคงเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่ให้ความสนใจกับเกมมากขึ้น โดยในปี 2021 ประเทศไทยมีเกมเมอร์กว่า 32 ล้านคน ส่วนตลาดเกมและอีสปอร์ตไทยมีมูลค่าราว 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 14% จากปี 2020 “การีนาจะยังคงเติบโตควบคู่กับอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตต่อไป   ทั้งในฐานะผู้ให้บริการและผู้พัฒนาเกม ผ่านเกมหลากหลายประเภทที่การีนาคัดสรรเข้ามาเปิดให้บริการ เช่น Blockman GO (เกมประเภท Sandbox) และ Moonlight Blade (เกมประเภท MMORPG) รวมถึงเกม Garena Free Fire (เกมประเภท Tactical-TPS Survival Open World) ซึ่งเราพัฒนาขึ้นเองบนอินไซต์ผู้ใช้งานจริง ทั้งยังสามารถปรับให้เหมาะกับแต่ละตลาดได้อย่างคล่องตัว นอกจากนี้ เราจะมุ่งต่อยอดวงการเกมและอีสปอร์ตไทยสู่โอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ และการใช้เกมเป็นสื่อกลางพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Garena Academy และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ตลอดจนกิจการเพื่อสังคมต่าง ๆ” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว

Sea กางแผน 3 ธุรกิจ\"เกม-อีคอมเมิร์ซ-การเงิน\" หลังปรับโครงสร้างเข้าที่

Shopee มีแผนในการนำดาต้าเข้ามาเสริมศักยภาพเพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อ-ผู้ขาย พร้อมส่งเสริม SMEs ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ  โดยเปิดโอกาสการขยายตลาดของผู้ประกอบการคนไทยสู่ 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ 

ช้อปปี้ (Shopee) มุ่งสร้างการเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจผู้ขายบนช้อปปี้ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทย ให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยโครงการพัฒนาทักษะผู้ขาย เช่น Shopee University และบริการส่งเสริมธุรกิจผู้ขาย เช่น Shopee Seller Centre ซึ่งช่วยให้ผู้ขายเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ให้สามารถจัดการร้านค้าออนไลน์, ระบบการจัดการคลังสินค้า Warehouse Management System (WMS), ระบบการบริการ Fulfillment by Shopee และระบบโลจิสติกส์คุณภาพ ทั้ง Shopee Xpress และเครือข่ายพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและครอบคลุม พร้อมกันนี้ ยังทำการพัฒนาประสบการณ์ผู้ซื้อและสร้างการมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม ด้วยเอนเตอร์เทนเมนต์ต่าง ๆ บนแอปพลิเคชัน 


ด้วยเหตุนี้ ช้อปปี้จึงมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยมีกว่า 2 พันล้าน Gross Order จากทั่วโลกในไตรมาส 4 ของปี 2021 

 

นอกจากนี้ หากย้อนดูการเติบโตในช่วงปี 2017 – 2021 พบว่ามูลค่า GMV มีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 83%สำหรับตลาดไทย จำนวนผู้ขายและแบรนด์พันธมิตรก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน

 

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2021 อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ (GMV-Gross Merchandise Volume) อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงไปถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2025 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 14% นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซยังรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายและเข้าถึงผู้คนในหลากหลายพื้นที่มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขายและผู้ใช้งานช้อปปี้ในประเทศไทย โดยในปี 2021 จำนวนผู้ขายช้อปปี้ที่อยู่นอกเมืองใหญ่เติบโตขึ้น 70% ส่วนจำนวนผู้ใช้งานที่อยู่นอกเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 40% นอกจากนี้ ช้อปปี้ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย ช่วยสนับสนุนผู้ขายไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยผู้ขายรายใหม่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า ในช่วง Shopee 11.11 Big Sale ปี 2021

 

ปัจจุบัน ช้อปปี้ทำธุรกิจแบบ Data Driven และใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักในการสร้างประสบการณ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Data นำเสนอสินค้าและบริการแบบเฉพาะบุคคล ตลอดจนการพัฒนาระบบการค้นหาสินค้าให้มีประสิทธิภาพด้วย AI และเรายังพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจผู้ขายบนช้อปปี้ ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ

 

"เราได้เปิดตัวโครงการ Shopee International Platform (SIP) ขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเพิ่มช่องทาง  การขายไปยังตลาดต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย โดยช้อปปี้จะช่วยสนับสนุนด้านการจัดการร้านค้าให้กับร้านที่ร่วมโครงการฯ เช่น การสร้างร้านค้าในต่างประเทศ การจัดการสินค้าและสต๊อก การแชตกับผู้ซื้อ และการจัดส่งไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยในระยะแรกจะเปิดโอกาสให้ผู้ขายไทยสามารถรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว

 

ด้านธุรกิจการเงินดิจิทัลอย่างซีมันนี่ (SeaMoney) เริ่มต้นจาก AirPay บริการทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเติมเงินเกมของกลุ่มเกมเมอร์ จากนั้นจึงมีการขยายขอบเขตการให้บริการจนครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น การจองตั๋วภาพยนตร์ การสั่งอาหาร การจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค และการเติมเงินโทรศัพท์ ภายหลังจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในช่องทางการรับชำระเงินบน Shopee ในปี 2019 เพื่อรองรับการเติบโตที่ก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซ และมีการรีแบรนด์เป็น ShopeePay ในปี 2021 

 

การชำระเงินดิจิทัล หรือ Digital Payment กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง และผู้บริโภคไทยยังใช้ E-wallet มากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจาก 18.6 ล้านคนในปี 2020 เป็น 41.9 ล้านคนในปี 2025 นอกจากนี้ ในปี 2021 จำนวนผู้ใช้งาน ShopeePay ในพื้นที่นอกเขตหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ยังเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2020 สะท้อนการเข้าถึงบริการการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น

 

นางสาวมณีรัตน์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของซีมันนี่ว่า ซีมันนี่ให้ความสำคัญกับการขยายบริการ Digital Finance ด้านอื่นๆ โดยเราได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก ในปัจจุบัน ซีมันนี่มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น SEasyCash เป็นบริการ Digital Personal Loan สินเชื่อเงินสดสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างอเนกประสงค์, SEasyCash for Sellers ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และ SPayLater เป็นบริการที่เป็นโซลูชั่นทางการเงินเพื่อมุ่งเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการบนช้อปปี้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้ด้วยข้อจำกัดที่น้อยลง

 

สำหรับภาพรวมการเติบโตของ SeaMoney ในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 บริการการเงินดิจิทัลของ SeaMoney สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานกว่า 45.8 ล้านคน

 

ส่วนการพัฒนาโครงการขับเคลื่อนสังคม นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยบริการต่าง ๆ Sea (ประเทศไทย) ยังต้องการแผ่ขยายคุณค่าที่เราสามารถส่งมอบให้กับสังคมผ่านโครงการ Social Impact ต่าง ๆ และความร่วมมือระหว่าง Sea (ประเทศไทย) ร่วมทำกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และกิจการเพื่อสังคมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ชนบทและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Inclusive Society) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ (Disaster Relief) และเพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะดิจิทัล (Digital Education) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 10 in 10 ที่ตั้งเป้าสร้าง ‘Digital Talent’ 10 ล้านคน ใน 10 ปี ในปัจจุบัน Sea (ประเทศไทย) สามารถเข้าไปสร้างเสริมทักษะดิจิทัลด้านต่างๆ ให้แก่คนไทยได้แล้วราว 4.18 ล้านคน 


ล่าสุดมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Sea Academy แพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้หลากหลายด้านจากโครงการต่าง ๆ ของ Sea (ประเทศไทย) มีเนื้อหาครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 

  1. การใช้อีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจในยุคออนไลน์      
  2. การเงินดิจิทัลและความปลอดภัย
  3. ทักษะสำหรับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต และจะมีการเพิ่ม เนื้อหาเข้าไปเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้อย่างอิสระ