รมว.แรงงาน สั่ง กสร.ดูแลสิทธิลูกจ้าง Shopee ถูกเลิกจ้าง

15 มิ.ย. 2565 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 19:45 น.

รมว.แรงงาน สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้าง Shopee ที่ถูกเลิกจ้างทันที ย้ำลูกจ้างต้องได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม พร้อมให้เตรียมจัดหางานและฝึกอาชีพหากลูกจ้างต้องการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวในสื่อออนไลน์ว่า ซี กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเครือช้อปปี้ที่ตั้งอยู่ประเทศสิงค์โปร์ จะดำเนินการเลิกจ้างลูกจ้างในต่างประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย กระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทันที

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

จากการสอบถามบริษัทฯแจ้งว่า มีการเลิกจ้างลูกจ้างในเครือช้อปปี้ที่อยู่ในประเทศไทยจริง โดยเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด โดยบริษัทฯได้เรียกลูกจ้างเข้ามาพบเป็นรายบุคคลเพื่อแจ้งการเลิกจ้าง และให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งการเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทยืนยันว่าจะจ่ายค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิหน้าที่และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคมให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง และให้เตรียมจัดหางานรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่หากลูกจ้างต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้ อย่างไรก็ตาม หากมีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจะดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว

 

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ประสานกับประกันสังคมพื้นที่ 3 จัดหางานพื้นที่ 10 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โดยทันทีเพื่อชี้แจงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างรับทราบเพื่อจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ กสร. จะติดตามสถานการณ์การจ้างงานของบริษัทฯ อย่างใกล้ชิดหากมีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ต้องการได้รับการช่วยเหลือ หรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5