กูรูอีคอมเมิร์ซ วิเคราะห์ "Shopee" ปลดคน เกมถอยเพื่อไปต่อ

14 มิ.ย. 2565 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2565 | 22:51 น.
2.4 k

กูรูอีคอมเมิร์ซไทย “ป้อม” ภาวุธ ชี้ "เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-น้ำมัน-คริปโตร่วง” กระทบทุนเทคโนโลยี แรงบีบ “Shopee” ประกาศปลดพนักงาน ShopeePay และ ShopeeFood มากกว่าครึ่ง เป็นการถอยจากธุรกิจออฟไลน์ มาลุยออนไลน์ เกมถนัดเต็มตัว

ภายหลังเกิดกระแสข่าวการปลดพนักงานจำนวนมาก ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย  เวียดนาม รวมถึงไทย  ของ “ช้อปปี้” (Shopee)  แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่  โดยเฉพาะในส่วน ช้อปปี้ เพย์  (ShopeePay) และ ช้อปปี้ ฟู้ด (ShopeeFood)  ที่คาดว่าจะปลดพนักงานมากถึงครึ่งหนึ่ง  ประกาศเลิกกิจการในอินเดีย และฝรั่งเศส  

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายภาวุธ  พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ในฐานะของกูรูอีคอมเมิร์ซไทย  เพื่อสะท้อนมุมมองต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น    จะส่งผลกระทบกับตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยอย่างไรนั้น

กูรูอีคอมเมิร์ซ วิเคราะห์ \"Shopee\" ปลดคน เกมถอยเพื่อไปต่อ

โดยนายภาวุธ   กล่าวว่า   อุตสาหกรรมดิจิทัล  หรือ เทค  กำลังย่อตัวลงเล็กน้อย  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก  อัตราเงินเฟ้อ   ราคาน้ำมัน   และความผันผวนของตลาดคริปโต   ซึ่งส่งผลกระทบกับการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี  โดยกลุ่ม SEA บริษัทแม่ของช้อปปี้ อยู่ในตลาด NASDAQ สหรัฐอเมริกา   ทำให้การระดมทุน  หรือ หาแหล่งเงินทุนตอนนี้ทำได้ลำบาก   ทำให้ช้อปปี้ จำเป็นต้องลดคน  ปิดกิจการในบางประเทศลงไป  ต่างจากลาซาด้า ที่ตอนนี้ตลาดจีนกำลังกลับมา  โดยรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น  และธุรกิจของอาลีบาบา บริษัทแม่ของลาซาด้ามีกำไร     

 

ช้อปปี้ลดคนมากกว่าครึ่งในธุรกิจ ช้อปปี้ ฟู้ด  และช้อปปี้ เพย์   ซึ่งเป็นธุรกิจออฟไลน์  ที่ตัวเองไม่มีความถนัด   โดยช้อปปี้ ฟู้ดนั้นช้อปปี้เพิ่งเริ่มธุรกิจในปีที่ผ่านมา    แม้จะมีช้อปปี้ พ้อยท์มาแลกซื้ออาหารได้   แต่ไม่สามารถแข่งกับแกร็บ ไลน์แมน หรือฟู้ดแพนด้า  ที่อยู่ในตลาดมานาน  และมีเงินทุนมหาศาล     ส่วนช้อปปี้ เพย์  แม้จะมีกำไรกว่า 100 ล้านบาท   แต่ก็เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร  ร้านค้า ซึ่งเป็นออฟไลน์ ที่ตัวเองไม่ถนัด และใช้คนจำนวนมาก”

กูรูอีคอมเมิร์ซ วิเคราะห์ \"Shopee\" ปลดคน เกมถอยเพื่อไปต่อ

ทั้งการประกาศลดพนักงานของช้อปปี้ครั้งนี้เป็นการกลับมุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจออนไลน์ ที่ตัวเองมีความถนัด เป็นการเก็บคองอเข่า ไม่เปิดศึกรอบด้าน ทั้งฟู้ดเดลิเวอรี  และอีวอลเล็ต  ที่ต้องใช้เงินทุนและคนมหาศาล มามุ่งให้ความสำคัญกับอีมาเก็ตเพลส  ที่ตัวเองเป็นอันดับ 1 ในตลาด   ซึ่งมองว่าเกมการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตต่อเนื่อง   ช้อปปี้ เป็นอันดับ 1 ในตลาด ยังคงยอมขาดทุน ใส่เงินอุดหนุนเพื่อขยายฐานตลาดต่อเนื่อง    แม้ว่าขณะนี้จะสามารถทำกำไรได้ก็ตาม   โดยจะเห็นรายได้ปีที่แล้วมีรายได้เติบโตแตะ 13,322 ล้านบาท  ขาดทุน 4,972 ล้านบาท          

“Creden Data” ได้เจาะข้อมูลผลประกอบการของกลุ่มบริษัท SEA ประเทศไทย (บางส่วน) มีรายได้สูงถึง 43,282 ล้านบาท ขาดทุน 5,908 ล้านบาท   โดยรายได้ สูงสุดในกลุ่ม คือ บริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้สูงถึง 15,010 ล้านบาท ขาดทุน 289 ล้านบาท  ขณะที่กำไรมากที่สุดในกลุ่ม คือ บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ 3,720 ล้านบาท   กำไร 153 ล้านบาท  ส่วนที่ขาดทุนมากสุดในกลุ่ม คือ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ 13,322 ล้านบาท ขาดทุน 4,972 ล้านบาท