สะท้อนความเหมือนที่แตกต่างดีล“ทรู-ดีแทค”VS” AIS-3BB”

07 ก.ค. 2565 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 20:23 น.
672

อดีต กสทช.ชี้ความเหมือน-ความแตกต่าง “ควบรวมทรู-ดีแทค”กับ” AIS-3BB” ระบุดีล AIS-3BB ตรงไปตรงมา ไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ยักษ์สื่อสารอย่าง“เอไอเอส” ประกาศดีลควบรวมครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN  ซึ่งเป็นบริษัทลูกได้เข้า “เทคโอเวอร์”หุ้นใหญ่ทั้งหมดในบริษัท ทริปเปิลทีอินเทอร์เน็ต จำกัด หรือ 3BB จำนวน 7,529 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.87 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดด้วยเม็ดเงินกว่า 19,500 ล้านบาท  

 

ทั้งยังเข้าซื้อหน่วยลงทุนใน “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)”  อีก 1,520 ล้านหน่วยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด มูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท รวมแล้วดีลครั้งนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนไปกว่า 32,420 ล้านบาท ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในทำนองที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หรือไม่ เพราะมีการนำไปเปรียบเทียบกรณีควบรวม“ทรู-ดีแทค” ที่ค่ายเอไอเอสเคยออกโรงคัดค้านแบบสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่ก่อนหน้า

 อย่างไรก็ตามดีล AIS และ 3BB  ในครั้งนี้ แหล่งข่าวในวงการสื่อสารโทรคมนาคมยืนยันว่า แตกต่างไปจากดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” แบบหนังคนละม้วน เพราะกรณีการควบรวมทรู-ดีแทคนั้น มาพร้อมกับการถือครองคลื่นความถี่ ซึ่งยากต่อการคลายตัว และเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะคลื่นความถี่เหลือไม่พอให้รายใหม่เบียดเข้ามาสู่ตลาด แถมช่องทางการจัดจำหน่าย (ร้านค้าปลีกที่ขาย SIM) ส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยผู้ประกอบการรายเดิม ประกอบกับตลาดเริ่มมีความอิ่มตัวแล้ว มี penetration ถึง 145% โอกาสที่จะเจาะตลาดใหม่ๆนั้นแทบไม่มีช่องทางอีก

 

ขณะที่ตลาดอินเทอร์เน็ตหรือ Fixed Broadband : FBB หลังการซื้อกิจการ 3BB ไม่ได้มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่  เพราะไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ และสามารถเช่าใช้โครงข่ายจากกองทุน DIF และ JASIF ได้ทุกเมื่อ การสมัครเน็ตบ้านส่วนใหญ่สามารถสมัครได้ที่ operator shop / call center ไม่ได้สมัครที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเคาท์เตอร์ของผู้ประกอบการ เพราะต้องเช็คพื้นที่ให้บริการ ตลาดยังโตได้อีกมาก มี penetration ต่ำกว่า 60% ผู้เล่นรายใหม่สามารถจะเข้ามาแข่งขันง่ายกว่า 

 

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ในรายงานที่ผู้ประกอบการยื่นประกอบขออนุญาตมายัง กสทช.นั้นระบุว่า มูลค่าการตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ณ ไตรมาส 1/2565 มีมูลค่ารวม 52,800 ล้านบาท มีผู้ให้บริการอยู่ 4 รายประกอบด้วย ทรูออนไลน์ มีลูกค้า 4.73 ล้านราย มีส่วนแบ่งการตลาด 43.1% ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (3BB) มีลูกค้า 2.42 ล้านราย คิดเป็น 22.1% บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที 1.95 ล้านราย คิดเป็น 17.8% ส่วนเอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้า 1.87 ล้านราย คิดเป็น 17% ดังนั้นแม้เอไอเอสจะรวมกับ 3BB ก็ทะยานขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของตลาดโดยมีลูกค้าจำนวน 4.29 ล้านราย คิดเป็น 39.1% เท่านั้น

นอกจากนี้  ดีลซื้อกิจการ 3BB นั้นยังสอดรับประกาศ กสทช.ว่าด้วยการควบรวมกิจการ  ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใด เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการที่ต้องการเสริมความแข็งแกร่งของโครงข่ายไฟเบอร์ที่ตนเองมีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ไม่กระทบต่อคู่ค้า พนักงานและตัวบริษัทแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่หรือยกเลิกบริษัทเดิม

 

 มีแต่จะเสริมผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจาก Content อันหลากหลายที่แต่ละเครือข่ายมีอยู่ โดยลูกค้า 3BB จะได้รับบริการมือถือ และสิทธิพิเศษที่ดีกว่า และประสบการณ์การบริการ ในขณะที่ลูกค้ามือถือเอไอเอส โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบรอดแบนด์พร้อมใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า

  สะท้อนความเหมือนที่แตกต่างดีล“ทรู-ดีแทค”VS” AIS-3BB”

ความเห็นข้างต้นดูจะสอดรับกับความเห็นของนายแพทย์ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และที่ปรึกษา กสทช.ที่ออกมาระบุว่า กรณีการยื่นขอควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการดังกล่าวก็ต้องพิจารณาอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน แต่กรณีของการเข้าซื้อกิจการ AIS- 3BB นั้นเป็นการดำเนินการไปตามกรอบกฎหมายและประกาศ กสทช.ไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งในแง่ของการพิจารณานั้น กสทช.ก็คงดำเนินการบนบรรทัดฐานเดียวกันกับ ทรูและดีแทค ว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหรือไม่ และก่อให้เกิดการกระจุกตัวหรือไม่อย่างไร

 

“กรณีของ AIS และ 3BB มีความชัดเจนทางกฎหมายมากกว่า เป็นธุรกิจเดียวกันทั้งคู่ ตรงไปตรงมา ไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่ ไม่เกี่ยวกับบบริษัทลูกอะไรทั้งสิ้น”