"AIS" ซื้อ "3BB" ยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้นครองตลาดสื่อสาร

05 ก.ค. 2565 | 17:21 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 00:32 น.
1.3 k

"AIS" ซื้อ "3BB" ยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้นครองตลาดสื่อสาร ระบุกลยุทธ์แรกกัลฟ์ข้ามจากธุรกิจพลังงานสู่ธุรกิจเทเลคอม ส่วนขั้นที่ 2 เอไอเอสเดินเกมธุรกิจ 5G อย่างแนบเนียน และขั้นสุดท้ายธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

AIS หรือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ควักเงินก้อนโต 3.2 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อกิจการในกลุ่มจัสมินฯ ของนายพิชญ์ โพธารามิก ผู้บุกเบิกและปั้นอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ 3BB ผงาดเป็นเบอร์หนึ่ง โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้บริษัทย่อย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้าซื้อกิจการในกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)  

 

ต่อเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า การซื้อกิจการครั้งนี้เสมือนเป็นยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้น สู่การเป็นผู้นำตลาดสื่อสารของเอไอเอส 

 

เริ่มจากบันไดขั้นที่ 1 คือ การเข้ามาของกัลฟ์ที่ข้ามห้วยมาจากธุรกิจพลังงาน ขยายฐานมาสู่ ธุรกิจเทเลคอม เป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพราะหากได้โครงสร้างพื้นฐานทั้งพลังงานและสื่อสารแล้ว จะถือว่ามีความครบครัน

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจขนาดใหญ่อย่างกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้าเทคโอเวอร์หุ้นใหญ่ ของ อินทัช (INTUCH) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 

 

โดย GULF ได้ทำการเสนอซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มกัลฟ์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน INTUCH ในสัดส่วนรวมกัน 42.25%

 

ขณะที่ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ใน AIS ทำให้ยุทธศาสตร์ของเอไอเอส มีความคมคายมากขึ้น ส่งผลให้เอไอเอสเปลี่ยนท่าทีจากที่ไม่คัดค้านการควบรวมทรูดีแทค เพราะมองว่า เอไอเอส ก็ยังได้เปรียบ มาสู่ท่าทีการคัดค้านอย่างชัดเจน เป็นธงของผู้ถือหุ้นใหม่ ที่ปรับให้เอไอเอส มีความเชิงรุกมากขึ้น ในการบอนไซคู่แข่งในอุตสาหกรรม

 

จังหวะการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเทเลคอมของ กลุ่มกัลฟ์ จึงเป็นบันไดขั้นแรก และเป็นก้าวสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้ AIS อย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่า เป็นการติดปีกให้กับเจ้าตลาดผู้ให้บริการมือถือในไทยได้ต่อยอดธุรกิจอย่างก้าวกระโดดด้วยความพร้อมของกัลฟ์ทั้งในด้านเงินทุนและเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง 

 

อีกทั้งยังมี สิงเทล (Singtel) ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ที่ถือหุ้นใน AIS มายาวนาน จากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ AIS มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 40.44% และ Singtel Strategic Investments Pte. Ltd. จำนวน 23.31%


หลังจากที่ กลุ่มกัลฟ์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน อินทัช เพียงไม่กี่เดือน ก็เห็นผลเชิงธุรกิจทันที เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 GULF ได้ลงนามร่วมพัฒนาธุรกิจกับ Singtel และ AIS รุกพัฒนาธุรกิจ Data Center ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 3 บริษัท โดย GULF มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 

รวมถึงมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ และเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวาง ขณะที่ AIS มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจ Data Center หลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงมีประสบการณ์ในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรมากมาย และ Singtel มีประสบการณ์และความชำนาญในด้านเทคโนโลยีสำหรับ Data Center และมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ระดับโลก 


บันไดขั้นที่ 2 ของ AIS เดินเกมธุรกิจ 5G อย่างแนบเนียน โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า บอร์ดบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ได้ตัดสินใจเลือกให้ AIS เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ โดย NT จะแบ่งคลื่น 700 MHz ให้ AIS ครึ่งหนึ่ง หรือ เป็นจำนวน 5 MHz (ตามที่บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz ด้วยราคา 34,306 ล้านบาท จาก กสทช) 

 

ดีลนี้ AIS ได้ประโยชน์อย่างมาก หรือจะกล่าวก็คือ สกัดผู้เล่นอย่าง NT ให้ออกไปจากตลาดโดยปริยาย ด้วยปริมาณคลื่น 5G ที่ NT มีเหลือน้อยจนไม่สามารถแข่งขันได้ ลดจำนวนคู่แข่งในตลาดโทรคมนาคมไทยให้เหลือน้อยลง และ AIS ยังนำคลื่นของ NT มาต่อยอดธุรกิจ 5G ส่งผลให้ AIS เป็นเจ้าเดียวที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดในประเทศ ทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่างทรูและดีแทคที่แม้จะควบรวมธุรกิจได้สำเร็จก็ตาม  


บันไดขั้นที่ 3 ของ AIS กับความเคลื่อนไหวล่าสุด กับ เกมธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดย AIS ได้แจ้งรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯเกี่ยวกับ ที่ประชุมบอร์ด เอไอเอส มีมติอนุมัติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เข้าซื้อหุ้น ในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) จำนวน 7,529,242,385 หุ้นคิดเป็น สัดส่วน  99.87%  จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน  อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS)

 

โดย AWN จะทำการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว จาก กสทช. ก่อน และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งหากดีลเทคโอเวอร์ครั้งนี้สำเร็จ ก็จะทำให้ AIS ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ยึดครองตลาดบรอดแบนด์อย่างสมบูรณ์ในทันที ด้วยฐานลูกค้าทั่วประเทศที่ใหญ่และมากที่สุดในอุตสาหกรรม ที่ประมาณ 5.55 ล้านราย (จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 JAS มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รวม 3.68 ล้านราย และ AIS มีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์รวม 1.865 ล้านราย) มากกว่า ทรูออนไลน์ ที่มีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ 4.7 ล้านราย ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 


หากวิเคราะห์ให้ลึกจะเห็นว่า บันได 3 ขั้นของ AIS เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงราว ๆ 1 ปีเท่านั้น หลังจากที่ GULF ได้เข้ามาสู่วงการโทรคมนาคม เสมือนติดปีกให้ AIS เดินเกมยึดตลาดโทรคมนาคมไทยได้อย่างแข็งแรงและรวดเร็วตามแนวยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจของ GULF ที่มีฐานกำลังแข็งแกร่ง ทั้งเงินทุนและเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม 

 

แต่ที่น่าสนใจ คือ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจทั้งหมดนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่สอดคล้องเหมาะเจาะกับยุคเปลี่ยนผ่านที่ธุรกิจทั่วโลก รวมถึงภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และขับเคลื่อนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความอยู่รอดและแข็งแกร่งได้พอที่จะลงสนามแข่งขันกับบรรดาธุรกิจข้ามชาติที่แผ่ขยายสินค้าและบริการไปทั่วโลกได้แบบไร้พรมแดน 


แม้ว่าการเทคโอเวอร์ 3BB ของ AIS จะยังต้องรอการพิจารณาจาก กสทช. ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นที่ท้าทายการกำกับดูแลของภาครัฐ ว่าจะสามารถควบคุมและดูแลอย่างสมดุลทั้งในด้านประโยชน์ของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่จะอยู่รอดและแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกได้หรือไม่  

 

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตา กลุ่มนักวิจัย TDRI นักวิชาการ รวมถึง สภาองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่จะเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้นและจับตาดีลนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ต่างกับที่ได้วิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ดีลการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเอาไว้ก่อนหน้านี้