สภาองค์กรผู้บริโภค เล็งกดดัน กสทช. กรณี "เอไอเอส" กินรวบคลื่น 700 หวั่นผูกขาด

19 มิ.ย. 2565 | 15:52 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 22:52 น.

สภาองค์กรผู้บริโภค เล็งกดดัน กสทช. กรณี "เอไอเอส" กินรวบคลื่น 700 หวั่นผูกขาด และตัดตอนเอ็นทีจากการแข่งขัน โทรคมนาคมไทย

จากกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่าบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่เกิดจากการควบรวม  CAT และ TOT กำลังจะแบ่งคลื่น 700 MHz สำหรับทำ 5G ให้กับเอไอเอส (AIS) ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดแบบเบ็ดเสร็จในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย  และตัด NT ออกจากการแข่งขัน 5G เพราะคลื่นไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน ทำให้เกิดกระแสว่าสภาองค์กรผู้บริโภคจะเคลื่อนไหวอย่างไร


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง "นโยบายสาธารณะในการกำกับดูแลการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภค" โดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นองค์กรกำกับดูแลที่ควรต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี จึงควรต้องดำเนินการกำกับดูแลไม่ให้เกิดการแข่งขันที่น้อยลง หลีกเลี่ยงการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจ


แหล่งข่าวจากสภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่า การโอนคลื่น 700 Mhz จาก NT มาให้รายใหญ่ที่มีคลื่นมากสุดอยู่แล้ว จะทำให้ NT เหลือคลื่นไม่เพียงพอในการให้บริการ ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เปรียบเสมือนการตัดตอนลดคู่แข่งจากอุตสาหกรรมไป 1 ราย และทำให้เอไอเอส มีอำนาจเหนือตลาด ในการครอบครองคลื่นแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้บริการ 5G ทำให้คู่แข่งไม่สามารถแข่งขันได้ 

ล่าสุด นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าส ได้รับรายงานจาก เอ็นที กรณีหาพันธมิตรให้บริการ 5จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยเอไอเอสให้ข้อเสนอดีสุด คาดเริ่มเซ็นเอ็มโอยูได้หลังได้ซีอีโอเอ็นทีคนใหม่ก.ค.นี้

 

อย่างไรก็ดี คาดว่า กสทช.จะประกาศโรดแมปในการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดของเอไอเอส จากการครอบครองคลื่นรับโอนจากเอไอเอสในครั้งนี้ โดยรายละเอียดตามสัญญาเอ็นทีจะแบ่งคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ให้กับเอไอเอสทำสัญญาครึ่งหนึ่งหรือ 5 เมกะเฮิรตซ์

 

สภาองค์กรผู้บริโภค เล็งกดดัน กสทช. กรณี "เอไอเอส" กินรวบคลื่น 700

 

ตามที่เอ็นทีหรือบมจ.กสท โทรคมนาคม เดิมเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ793-803 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยราคาการประมูลสูงสุด 34,306 ล้านบาท จาก กสทช.

แหล่งข่าวจากบอร์ดเอ็นที กล่าวว่า มติจากบอร์ดสรุปให้เอไอเอสเป็นพันธมิตรรายเดียวกับเอ็นทีตั้งแต่ต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่ที่เรื่องยังไม่คืบหน้าก็ยอมรับว่า เอ็นทียังไม่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ แต่ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกเสร็จแล้วโดยได้ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ มาดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งน่าจะมาร่วมงานกับเอ็นทีได้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ก.ค.65 นี้

 

โดยต้องรอดูท่าที กสทช.ว่าจะมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อการพิจารณาและแผนการดูแลผู้บริโภคกรณีมีอำนาจเหนือตลาดจากการครอบครองคลื่นได้อย่างไรบ้าง