อดีตประธาน กสทช. ร่อนหนังสือถึง กสทช ค้านควบรวมTRUE-DTAC

10 มิ.ย. 2565 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2565 | 00:00 น.
952

อดีตประธาน กสทช. ร่อนหนังสือถึง กสทช ค้านควบรวมTRUE-DTAC ย้ำ คุมเข้ม ใต้กติกาแข่งขันเสรี เป็นธรรม หวั่นนักลงทุนเทงบ หันซบเพื่อนบ้าน ชี้ชัดควบทรู-ดีแทค ทำดัชนี HHI กระจุกตัว

รายงานจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)  ได้ยื่นหนังสือถึง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ สำนักงาน กสทช. ต่อกรณีควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE  กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  DTAC  โดยระบุว่า กสทช. และค ณะทำงาน ต้องพิจารณาการควบรวมกิจการ โดยคำนึงถึงค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) เป็นสำคัญ ซึ่งนักวิชาการหลายราย รวมถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูล ว่า การควบรวมกิจการทำให้สภาพตลาดมีการกระจุกตัวสูง จากค่าดัชนี HHI สูงสุด 10,000 จุด คือ การผูกขาดรายเดียว การควบรวมกิจการจะทำให้ดัชนี HHI ในตลาดโทรคมนาคมของไทย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ในระดับอันตราย อยู่ที่ 5,032 จุด จาก 3,624 จุด เกินกว่าค่ามาตรฐานของดัชนีที่อยู่ที่ 2,500 จุด ตามที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561

ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ กล่าวว่า บริการโทรคมนาคมจัดเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญเช่นเดียวกันกับสาธารณูปโภคอื่นๆ กสทช. ควรกำกับดูแล โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ให้บริการในตลาดจะลดลงเหลือ 2 ราย การแข่งขันย่อมลดลง ขณะที่ราคาค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ต่างจากตลาดที่มีผู้ให้บริการ 3 ราย ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และเข้มข้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาต่อสู้ เพื่อช่วงชิงลูกค้า และทำให้ผู้บริการรายเล็กอย่าง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ซึ่งถือครองโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ สามารถประกอบกิจการได้

 

ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ กล่าวว่า แม้มุมมองของนักวิชาการ และนักวิเคราะห์ในตลาดทุน จะเห็นด้วยกับการควบรวมกิจการนี้ เพราะเชื่อว่า ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ในตลาดจะได้รับประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่ง การประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละครั้ง กสทช. มีการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละราย สามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินกี่ชุดที่กำหนดไว้ และผู้เข้าประมูลแต่ละรายต้องไม่มีความเกี่ยวโยงกัน เช่น บริษัทแม่ลูกกันหรืออยู่ในเครือเดียวกัน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียว หรือถูกกินรวบ เช่นเดียวกับในอดีตที่มีการกักตุนคลื่นความถี่ อาทิ กิจการทหาร ที่ไม่ต้องเสียเงินเพื่อประมูลคลื่นความถี่ แต่สามารถใช้งานได้ ทั้งที่ควรนำออกมาจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

 

 

 

ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ

“กสทช. ต้องจริงจังกับการกำกับดูแล จัดการกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อยู่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม ไม่กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภค และป้องกันผลกระทบจากการควบรวมกิจการ ที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกับ T-Mobile และ Sprint ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจให้ควบรวมกิจการที่แย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างผู้ประกอบกิจการดาวเทียมระดับโลก ที่หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน ทั้งที่กฎเกณฑ์ของไทยเอื้อให้เกิดการค้า และการลงทุน” ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กสทช. ควรพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ให้เกิดกระกระจุกตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างอุตสาหกรรม และรองรับการแข่งขัน เพราะกิจการโทรคมนาคม ยังขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่, คลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และกิจการอื่นถือครอง รวมถึงการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เช่น แพลตฟอร์มจากการประเทศ (โอทีที) เป็นต้น จากเดิมที่กำกับดูแลเฉพาะการใช้งานวอยซ์และดาต้า.