“นักวิชาการ”ชี้ควบรวมทรู-ดีแทค ไม่ควรมองเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว

09 มิ.ย. 2565 | 07:50 น.

วงโฟกัสกรุ๊ป ควบรวมทรู-ดีแทค รอบ นักวิชาการ มุ่งศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ ขณะที่นักวิชาการ ระบุ กสทช.ไม่ควรมองโมเดลทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ควรเพิ่มปัจจัยที่อาจมีผลกระทบในด้านอื่นๆด้วย เช่น จิตวิทยา กฎหมาย และควรคำนวณสูตรที่มีตัวแปรเป็นผู้เล่นในตลาดรายอื่น

นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวเป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด  หรือ โฟกัส กรุ๊ป  (7 มิ.ย.65)  ต่อกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ว่า โฟกัส กรุ๊ปครั้งนี้ในรอบวิชาการถือเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ก่อนหน้าจัดในรอบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. และกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองในวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา

“นักวิชาการ”ชี้ควบรวมทรู-ดีแทค ไม่ควรมองเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว

"ก่อนที่จะมีถึงโฟกัส กรุ๊ปรอบที่ 3 ในกลุ่มนักวิชาการ โดยในรอบนี้จะเป็นการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นหากมีการควบรวมทรู-ดีแทค โดยกสทช.ได้กำหนดกรอบการทำงาน (เฟรมเวิร์ก) ด้วยความรอบคอบซึ่งใช้เวลาทำเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ก่อนมาปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งและนำมาโฟกัส กรุ๊ปในครั้งนี้ จึงขอให้ทุกฝ่ายมีความไว้วางใจ กสทช.ว่าได้ทำผลศึกษาผลกระทบด้วยความบริสุทธิ์อยู่บนข้อเท็จจริง"

สำหรับเฟรมเวิร์ก ในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวมทรู-ดีแทคได้วิเคราะห์ผ่าน 2 รูปแบบ คือ 1.การวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขัน และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย ด้านโครงสร้าง ทั้งกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มค้าส่งบริการ และ กลุ่มค้าปลีกบริการ กาานิยามตลาด และตลาดที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ต แชร์) ทั้งกรณีที่มี และไม่มีการควบรวมธุรกิจ และ ด้านพฤติกรรม

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาได้ดูผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีที่ไม่มีความร่วมมือ ดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นด้วยการศึกษาจากบทเรียนของต่างประเทศที่มีอยู่ มีการพิจารณาพฤติกรรมและผลกระทบต่างๆ เช่น ราคาค่าบริการ อุปสรรคในการเข้าตลาด การทดแทนกันของบริการ การคงสิทธิของเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ททิบิลิตี้) และ 2. ความมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้นต่อให้ผู้ให้บริการภายหลังการควบรวม และความเป็นไปได้ ว่าประโยชน์จากการลดต้นทุนส่วนเพิ่มที่จะส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค

 

ด้านนายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 2 กสทช. กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านราคาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมธุรกิจ 2 แบบ คือ Merger Simulation (MS) และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้แพร่หลายในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อวิเคราะห์เรื่องควบรวมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า โมเดลการใช้งานวอยซ์และดาต้า บ่งบอกถึงอัตราการเพิ่มขึ้นที่น้อยกว่า โมเดลการใช้งานด้านเสียงเพียงอย่างเดียว โดยอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเมื่อไม่มีการร่วมมือกัน คือ 2.03-19.53% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำราคาเพิ่มขึ้น 12.57-39.81% กรณีร่วมกันในระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 49.30-244.50%

 

ทั้งนี้ การดูผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีที่มีความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ โดยดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดผ่านการศึกษาบทเรียนของต่างประเทศที่มีอยู่ รวมถึงการดูผลกระทบกรณีมีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการหลังรวมธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น อัตราค่าบริการ การเข้าสู่ตลาดผู้ให้บริการบนโครงข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) การทดแทนบริการ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

 

ส่วนนายพรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจว่า ตามแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปที่ถูกพัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงานกสทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย โดยใช้แบบจำลองมี 59 สาขาเศรษฐกิจ มีสมการและข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์ที่ทุกสาขาเศรษฐกิจมีความเกี่ยวข้องกัน โดยมีทั้งกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ในสาขาเศรษฐกิจที่ทำการศึกษา โดยผลการจำลอง ชี้ให้เห็นว่า ระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับระดับการร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวมเป็นอย่างมาก ซึ่งระดับการร่วมมือจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่กำหนดสภาพตลาดภายหลังการควบรวม

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสภาพตลาดและการแข่งขันหลังควบรวม ขึ้นกับปัจจัยดังนี้ 1. จำนวนผู้ประกอบการที่เหลือภายหลังควบรวม ยิ่งน้อย ยิ่งร่วมมือง่าย 2. ขนาดของผู้ประกอบการโดยเปรียบเทียบ ยิ่งขนาดใกล้เคียงกัน ยิ่งร่วมมือง่าย 3. ลักษณะของบริการ บริการยิ่งเหมือนกัน ยิ่งร่วมมือง่าย 4. ผู้ประกอบการตรวจสอบราคากันได้ง่ายหรือไม่ ยิ่งตรวจสอบเปรียบเทียบราคากันง่ายยิ่งร่วมมือง่าย 5. ระยะเวลาที่ต้องทำธุรกิจในตลาดเดียวกัน ยิ่งทำธุรกิจแข่งกันมานาน ยิ่งร่วมมือง่าย 6. อุปสรรคของรายใหม่ในการเข้าสู่ตลาด ยิ่งรายใหม่เกิดยาก ยิ่งร่วมมือง่าย และ 7. ประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแล

 

เขา กล่าวว่า สรุปผลการศึกษาพบว่า ต่อสภาพเศรษฐกิจในแง่ของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังการควบรวม โดยแบ่งเป็น 1. กรณีไม่มีการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.05% - 0.12% 2.กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.17% - 0.34% และ 3.กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60% - 2.07% ส่วนสรุปผลการศึกษาอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยกรณีนี้หมายเหตุ จีดีพีหดตัวหมายถึงจีดีพีจะโตน้อยกว่าที่ได้คำนวณมา 1.กรณีไม่มีการร่วมมือกัน จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.05% - 0.11% คิดเป็นมูลค่าลดลง 8,244 - 18,055 ล้านบาท 2.กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.17% - 0.33% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 27,148 - 53,147 ล้านบาท 3.กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.58% - 1.99% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 94,427 - 322,892 ล้านบาท

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สำนักงาน กสทช.ได้แสดงแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์จบลงได้เปิดโอกาสให้นักวิชาการที่เข้าร่วมแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ได้แสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ระบุว่า สำนักงานกสทช.ไม่ควรมองโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว ควรเพิ่มปัจจัยที่อาจมีผลกระทบในด้านอื่นๆด้วย เช่น จิตวิทยา กฎหมาย และควรคำนวณสูตรที่มีตัวแปรเป็นผู้เล่นในตลาดรายอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) หรือแม้แต่ควรเพิ่มผลกระทบในด้านการการมีผู้ให้บริการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) ที่เข้ามาในตลาดและเข้ามาใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

 

นอกจากนี้ ยังระบุว่าแม้ดัชนี Herfindahl-Hirschman Index (HHI) ที่เป็นดัชนีวัดความรุนแรงการแข่งขันในธุรกิจเพื่อวัดระดับการกระจุกและการผูกขาดของตลาด โดยระบุว่า แม้การควบรวมที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้ดัชนี HHI เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและสะท้อนถึงการกระจุกตัวของการแข่งขัน แต่ไม่ได้แปลว่า จะทำให้อัตราค่าบริการสูงขึ้นเสมอไป ดังนั้น กสทช.ที่มีหน้าที่ “กำกับ” และ “ดูแล” จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ให้มากขึ้น