เอไอเอส มองเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

18 พ.ค. 2565 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 02:01 น.

เอไอเอส ชี้การดิสรัปชันของเทคโนโลยีมีผลบวกกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระบุเตรียมพร้อมปรับตัวสู่ Cognitive Telco รับการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องทำภายใต้บริบทโลกใหม่ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว การปรับตัวเพื่อให้พร้อมเป็นสิ่งที่ เอไอเอส  เตรียมการมาต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเคลื่อนตัวจาก Telecom Operator สู่ Digital Life Service Provider และล่าสุดยกระดับสู่ Cognitive Telco (ค็อกนิทิฟ เทลโค่) ซึ่งการดิสรัปชันของเทคโนโลยีมีผลบวกอย่างมากกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เอไอเอส มองเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี เอไอเอสมองว่าในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้เศรษฐกิจเริ่มจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัว (รีบาวด์) เล็กน้อยจากการต้อนรับการเปิดภาคเรียน และการเปิดประเทศจะเห็นได้สัญญาณบวกหลายอย่าง แต่ด้วยข้อจำกัดจากความกดดันทางเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ สงคราม และราคาจากพิษโควิด ก็ทำให้การปรับตัวเพื่อภาคธุรกิจเพื่อความอยู่รอดยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สำหรับตลาดโทรคมนาคมในไทยปัจจุบันมีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 93 ล้านราย ในนี้เป็นลูกค้าของเอไอเอส 44 ล้านราย ซึ่งเอไอเอสก็ยังเอไอเอส จะมุ่งมั่นกับ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้ลูกค้าสูงสุด 2.ต่อยอดกลไกการเติบโตผ่านธุรกิจเน็ตบ้าน และบริการลูกค้าองค์กร 3. ลงทุนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนสู่อนาคตในฐานะ Cognitive Telco ต้องไม่หยุดเพิ่มพูน ปรับประยุกต์ ผสมผสาน องค์ความรู้เดิมจากประสบการณ์ในฐานะผู้ให้บริการอันดับ 1 เข้ากับนวัตกรรมดิจิทัลระดับโลก ให้สามารถส่งมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่อย่างสอดคล้องกับโลกยุค New normal นี้

 

เขา กล่าวว่าตั้งแต่ที่เอไอเอสให้บริการ 5จี เอไอเอสใช้เงินลงทุนโครงข่ายไปไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากรวมกับการประมูลใบอนุญาตก็น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาท เพื่อให้การบริการด้วยความครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศกว่า 90% ในเขตกรุงเทพฯ ครอบคลุม 100% ในพื้นที่อีอีซี รวมไปถึงประสบการณ์ใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งความครอบคลุม, ความเร็ว, การเชื่อมต่อกับไอโอที ดีไวซ์ ตลอดจนอัตรา latency ที่เอไอเอสโฟกัสเพื่อรักษาคุณภาพที่เป็นเลิศตลอดเวลา

ทั้งนี้ โครงข่าย 5จี ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เท่ากับการสร้างโอกาสมหาศาลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีการประเมินว่าในปี 2025 มูลค่าของตลาด 5จีในประเทศไทยจะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยตลาดหลักทีมีศักยภาพและเจริญเติบโตได้ดีจะมี 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มการใช้งานอินเตอร์เน็ตภายในบ้านที่อยู่อาศัยผ่านอุปกรณ์ FWA (Fixed Wireless Access) กลุ่มการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่าน Mobile

 

และกลุ่ม B2B ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนก้อนใหญ่ โดยเน้นไปในกลุ่มธุรกิจการผลิต, การค้าปลีก, การขนส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ศักยภาพของ 5จี ในเมืองไทยสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกลุ่ม

 

จากการทำงานอย่างหนักของเอไอเอสในช่วงปีที่ผ่านมาผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต การเงิน ค้าปลีก สาธารณสุข การศึกษา และอีกมากมายซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างแน่นอน

 

เขา กล่าวว่า เอไอเอส 5จี ต้องสามารถเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งทัดเทียมนานาชาติ โดยที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐ และเอกชน ส่งผลให้วันนี้เริ่มนำเครือข่าย 5จี ไพรเวท เน็ตเวิร์ค มาให้บริการเพิ่มขึ้น สามารถสร้าง Business Process รูปแบบใหม่ ช่วยทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในองค์กร

 

“ปัญหานอกเหนือจากการทรานฟอร์มเมชั่นองค์กรนั้น ไทยยังขาดบุคลากรทางด้านไอทีในทุกๆเซ็กเตอร์ ดังนั้น สิ่งที่ทำให้คือต้องส่งเสริมบุคคลากรด้านไอทีในระยะกลางและยาว ส่วนในระยะสั้นจำเป็นต้องอิมพอร์ทคนไอทีเสริมเข้ามาเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว การหาแรงงานไอทีต้องเป็นสิ่งที่ภาครัฐเองต้องให้ความสำคัญ ส่วนระยะกลางต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่เข้าสู่ด้านไอทีในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น”