ทำความรู้จัก"มัลแวร์"ภัยร้ายแฮกข้อมูล กับ 6 วิธีป้องกัน

26 เม.ย. 2565 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 16:47 น.
1.9 k

การรั่วไหลของข้อมูลที่พบอยู่บ่อยครั้ง จากการเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ และทำการดาวน์โหลด ซึ่งมีต้นเหตุมาจาก"มัลแวร์"ทำการแฮ็กข้อมูล วันนี้เรามาทำความรู้จัก มัลแวร์ คืออะไร มีกี่ประเภท และเราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร มัดรวมให้อ่านแล้วที่นี่

ทุกวันนี้เราได้ยินข่าวการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมาจากการเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ และทำการดาวน์โหลดข้อมูลใด ๆ ก็ตาม ถึงเวลานี้มัลแวร์ ที่แฝงอยู่กับโปรแกรมที่เราดาวน์โหลดต่าง ๆ ก็จะเริ่มทำการแฮ็กข้อมูลของเราแบบไม่รู้ตัว 

 

ล่าสุด ทีทีบี (ttb) ได้ออกบทความ ชวนมาทำความรู้จักว่า มัลแวร์ คืออะไร? “มีกี่ประเภท?” และจะ“ป้องกันได้อย่างไร?” 
 

มัลแวร์ คืออะไร?

 

มัลแวร์ (Malware) มาจากคำว่า Malicious และ Software รวมกัน หมายถึง โปรแกรมที่เป็นอันตราย ที่เขียนขึ้นมาเพื่อมุ่งร้ายต่อข้อมูลในระบบ ไม่ว่าจะเป็น ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์รวน ทำงานผิดแปลกไปจากเดิม รวมถึงการขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน การลบข้อมูล เป็นต้น

 

ประเภทของมัลแวร์

 

มัลแวร์มีด้วยกันหลากหลายประเภท แต่โดยรวมแล้วจะทำหน้าที่เหมือนกันคือ ขโมยข้อมูลส่วนตัวของเรา และมุ่งร้ายต่อคอมพิวเตอร์ของเรา มาทำความรู้จักมัลแวร์แต่ละประเภทกัน


Virus (ไวรัส)

 

Virus หรือ Computer Virus เป็นมัลแวร์ที่ติดต่อกันได้จากไฟล์สู่ไฟล์ โดยจะถูกส่งผ่านไฟล์ ถ้าเราเผลอไปกดเปิดหรือดาวน์โหลด ไวรัสก็จะเข้าไปทำลายทั้ง ฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และข้อมูลในแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนของเราได้


Ransomware (แรนซัมแวร์)

 

มัลแวร์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้ ซึ่งลามมาจากปีก่อน โดยที่ แรนซัมแวร์ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้ารหัสเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ของตัวเองได้ ถ้าต้องการใช้งานเครื่องได้ตามปกติ ต้องจ่ายเงินให้แฮ็กเกอร์เพื่อกู้คืน

 

Trojan (โทรจัน)

 

มักมาในรูปแบบของโปรแกรมทั่วไป ไม่ได้ดูเป็นอันตราย แต่แท้จริงแล้ว แฝงภัยร้ายไว้เมื่อดาวน์โหลดโปรแกรม เช่น โปรแกรมแปลงไฟล์ โปรแกรมโหลดรูป ที่หลอกให้ดาวน์โหลดมาใช้งาน แล้วจะเข้าไปเล่นงานระบบของเราให้มีช่องโหว่จนแฮ็กเกอร์เข้ามาขโมยข้อมูลได้
 

Adware (แอดแวร์)

 

จะมาในรูปแบบโฆษณาไม่พึงประสงค์บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน หากเราเผลอไปกด ก็เท่ากับเราอนุญาตให้แฮ็กเกอร์เข้ามาขโมยข้อมูลของเราได้

 

Spyware (สปายแวร์)

 

เป็นเหมือนสายลับที่เข้ามาแอบมาสอดส่องพฤติกรรมการใช้งานของเรา และสามารถขโมยข้อมูลส่วนตัวของเรา ไปยังแฮ็กเกอร์ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รหัสผ่านต่าง ๆ

 

มัลแวร์ แพร่กระจายอย่างไร?

 

มัลแวร์เปรียบเสมือนเชื้อโรคร้ายที่แพร่กระจายเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีหลากหลายวิธีในการแพร่กระจาย และการหลบเลี่ยงจากการค้นเจอ อาจมาจากวิธีต่าง ๆ ดังนี้

 

แฟลชไดรฟ์  แม้ว่าทุกวันนี้การรับส่งข้อมูลจะทำผ่านช่องทางออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ส่งผ่านไลน์ ส่งผ่านอีเมล หรือผ่าน Google Drive แต่แฟลชไดรฟ์ก็ยังคงมีใช้งานในบางองค์กร ขณะที่หลาย ๆ องค์กรเลือกที่จะล็อกไม่ให้ใช้แฟลชไดร์ฟแล้ว เพราะเป็นแหล่งที่พบมัลแวร์มากที่สุดก็ว่าได้ เพื่อเป็นการป้องกันมัลแวร์ควรลงโปรแกรมป้องกันไวรัส ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และทำการสแกนไวรัสก่อนทุกครั้ง

 

อินเทอร์เน็ต  มักมีการกระจายตัวอยู่ของมัลแวร์หลากหลายชนิด โดยผู้ใช้งานมักดาวน์โหลดมัลแวร์ มาแบบไม่รู้ตัว โดยเว็บไซต์ที่มีมัลแวร์อยู่จะมาในรูปแบบของอีเมลพร้อมลิงก์ ให้เราคลิก และมีมัลแวร์ซ่อนตัวอยู่นั่นเอง ซึ่งจะมีมิชชั่นในการโจมตีเซิร์ฟเวอร์หลักขององค์กรเพื่อทำการแฮ็กข้อมูล หรือลบข้อมูล โดยจะทำการซ่อนตัวจากผู้ดูแลระบบและอุปกรณ์ตรวจจับมัลแวร์ทั้งหลาย
 

ป้องกันมัลแวร์ได้อย่างไร?

 

ถ้าอยากให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตของเราปลอดภัยจากมัลแวร์ ควรปฎิบัติดังนี้

 

  • 1.ติดตั้งโปรแกรมสแกนไวรัสและอัปเดตอยู่เสมอ
  • 2.อัปเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตอยู่เสมอ
  • 3.เลี่ยงการชมเว็บไซต์เถื่อน เช่น เว็บดูหนัง ซีรีส์ออนไลน์ เพราะมักมีมัลแวร์แอบแฝง
  • 4.ไม่ติดตั้งซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช่แอปพลิเคชัน ที่เป็นทางการหรือต้องสงสัย
  • 5.ไม่คลิกลิงก์ หรือเปิดไฟล์ในอีเมลที่ไม่รู้จักส่งมา หรืออีเมลน่าสงสัย
  • 6.สำรองข้อมูลไว้ในอุปกรณ์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต

 

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้การใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จากการโดนแฮ็กข้อมูลที่มาในรูปแบบของมัลแวร์ต่าง ๆ ด้วยการไม่โหลดโปรแกรมหรือเปิดรับอีเมลที่ไม่รู้จัก และตั้งค่าระบบความปลอดภัยให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือเสมอๆ
 

อ้างอิงข้อมูล :  ทีทีบี