ส่องทางรอดสื่อออนไลน์ ในยุคที่ต้อง “เช่าอยู่บนที่ดินคนอื่น”

26 ต.ค. 2564 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 03:16 น.
1.2 k

สมาคมนักข่าวฯเผยแพร่ บทสัมภาษณ์พิเศษ "ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หรือ SONP ถึงทางรอดสื่อออนไลน์ ในยุคที่ต้อง “เช่าอยู่บนที่ดินคนอื่น” พร้อมวิเคราะห์แพลตฟอร์มต่างๆ


เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 64 เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ที่วิเคราะห์ผ่านรายการ “ช่วยกันคิด ทิศทางข่าว” ทางFM 100.5 อสมท. ในหัวข้อเรื่อง “ทางรอดสื่อไทยเอายังไงดี! เมื่อ โซเชียลฯ กลายเป็นบ้านหลัก”

โดยเนื้อหาของ บทสัมภาษณ์พิเศษดังกล่าวระบุว่า 

กระแส Disruption ยังคงถาโถมคนสื่อ จากพฤติกรรมการเสพข่าวสารของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่การติดตามข่าวสารผ่านช่องทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ มาสู่ยุคของเว็บไซต์ ก่อนที่จะเริ่มมีแพลตฟอร์มต่างๆบนโซเชียลมีเดียเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram หรือแม้แต่ tiktok ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้กำลังกำลังกลายเป็นช่องทางหลักในการติดตามข่าวสารของผู้บริโภคที่เข้ามาแทนเว็บไซต์ ส่งผลต่อคนในวิชาชีพสื่อมวลชน ทำให้ต่างต้องปรับตัวกันอย่างหนัก

 

ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ วิเคราะห์ ไว้ในรายการ “ช่วยกันคิด ทิศทางข่าว” ถึง ทางรอดสื่อไทยเอายังไงดี! เมื่อ โซเชียลฯ กลายเป็นบ้านหลัก ว่าที่ผ่านมาไม่เพียงแต่สื่อที่มีปรับตัว แต่ผู้บริโภคเอง ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในเจเนอเรชั่นใดก็ตาม ก็มีการปรับตัวเพื่อรับข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่จะเลือกรับข่าวสารจากสื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มที่มองว่าเหมาะกับตัวเอง ไม่ได้จำกัดแค่จากเว็บไซต์อย่างเดียวเหมือนในอดีตอีกแล้ว ทำให้ที่ผ่านมาสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ มีการเติบโตมากขึ้น บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันไป

“อยากให้ลองนึกภาพว่าเวลาเราทำสื่อ เหมือนเราทำบ้านหลังหนึ่ง การทำเว็บไซต์ เปรียบเสมือนการลงหลักเสาบ้าน ให้เราได้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินจริงๆ เพราะจะมีการจดทะเบียนชัดเจน แต่การเปิดเพจที่เป็น เฟซบุ๊ก, ยูทูป หรือ อินสตาแกรม เราเป็นแค่คนไปเช่าอยู่บนที่ดินของคนอื่น ซึ่งเจ้าของที่ดินแต่ละแหล่งก็จะมีกฎไม่เหมือนกัน การทำงานของสื่อ จึงต้องปรับตัว คิดและจัดการแตกต่างกันไป เพื่อให้อยู่บนแต่ละแพลตฟอร์ม ได้ตามกฎหมายของเขา”

เกือบ 10 ปีแล้ว ที่คนสื่อใช้เว็บไซต์เป็นบ้านหลัก โดยมีโซเชียลมีเดีย เปรียบเสมือนเป็นประตู ให้ผู้บริโภคข่าวสารใช้ในการเปิดผ่านเข้าไปในบ้าน ซึ่งในเว็บไซต์จะมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีภาพ มีลิขสิทธิ์ทุกอย่าง รวมถึงรายได้เชิงโฆษณาที่ให้ธุรกิจสื่อนั้นสามารถอยู่ได้ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ประตูบ้าน แต่กลับคือ “บ้านอีกหลัง” และแต่ละแพลตฟอร์มเอง ก็ยังมีกฎ ระเบียบ เงื่อนไขเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป

ส่องทางรอดสื่อออนไลน์ ในยุคที่ต้อง “เช่าอยู่บนที่ดินคนอื่น”

“โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก ซึ่งกำลังมีแนวคิดจะรีแบรนด์ชื่อบริษัทใหม่ โดยเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นบริษัทเมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นนโยบายของ เฟซบุ๊ก ว่าจะทำตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจริงๆ ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มสำหรับสื่อหรือสำหรับการโฆษณา หลังเจอข่าวแฉเรื่องการให้ความสำคัญกับเงินมากกว่าสังคม ดังนั้นถ้าเฟซบุ๊กลดขนาดประตูบ้าน ที่จะเข้าไปสู่เว็บไซต์ให้แคบลง ก็ต้องมาดูว่าจะส่งผลให้ตัวเลขของคนที่เข้าไปอ่านบนเว็บไซต์มากน้อยแค่ไหน นี่ยังไม่รวมถึงช่องทางอื่นๆ เช่น ไลน์ ก็มี LINE Today ที่ให้สำนักข่าวส่งข่าวไป และคนก็กดเข้าไปอ่านจากตรงนั้นได้จบเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นถึงผลกระทบหลายเรื่องในธุรกิจสื่อ ทั้งเรื่องของการหารายได้ ความความน่าเชื่อถือของเนื้อหา เนื่องจากการขึ้นไปอยู่บน เฟซบุ๊ก ภาพและข้อมูล จะไม่ครบถ้วน สมบูรณ์”

แต่ต้องยอมรับว่า สื่อเองไม่สามารถไปปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือผู้อ่านปลายทางได้ ทำให้สื่อต้องหันมาปรับวิธีการสื่อสาร และการเข้าถึงผู้บริโภคให้เหมาะสมแทน ด้วยการรู้จักเลือกใช้แพลตฟอร์มให้เหมาะกับเนื้อหาที่มีและการจะนำเสนอ เพราะงาน 1 ชิ้น ไม่สามารถนำไปลงในทุกแพลตฟอร์มได้ เช่น อินสตาแกรม เป็นแพลตฟอร์มถ่ายภาพ ไม่สามารถนำบทความยาวๆไปอยู่บนนั้นได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆ จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคข่าวสารเพิ่มมากขึ้น แต่เว็บไซต์ก็ยังคงมีความจำเป็นและสำคัญสำหรับสื่อ เพราะ คือการสร้างความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ

“การจะเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เหตุผลเพราะว่าเราอยู่ในอุตสาหกรรมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีสมาชิกประมาณ 30 ราย ทั้งหมดเป็นเว็บไซต์สื่อหลักของประเทศ ไม่ใช่เป็นเพจเฟซบุ๊ก หรือแค่ ยูทูป

ความสำคัญของการมีเว็บไซต์ มี 2 มุม มุมแรก ถ้าเรามีแฟนเพจ 1 ล้านคน คนเชื่อถือเรามาก เนื้อหาเราดี แต่ดันละเมิดอะไรบางอย่างที่ผิดกฎของ เฟซบุ๊ก เราสามารถถูกปิดเพจได้ และแฟนเพจ 1 ล้าน จะหายไปทันที แต่สำหรับเว็บไซต์ไม่ใช่แบบนั้น…ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่ง ถ้ามีทีมงานทำเพจเฟซบุ๊ก เกิดทำการสื่อสารผิดพลาด มีการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น เช่นถ่ายภาพเด็ก หรือภาพอะไรที่ผิดจริยธรรมจรรยาบรรณ หรือละเมิดสิทธิ เขาจะฟ้องร้อง ถ้ามีการปิดเพจหนี ก็จบ ฟ้องไม่ได้เลย เพราะหาเพจไม่เจอ แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ มีบริษัท อย่างน้อยทางนิติกรรม สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้ ”

นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจสื่อออนไลน์ในต่างประเทศ ก็มีตัวอย่างของการปรับตัวเช่นกัน โดยยึดหลักสำคัญคือ การสร้างแบรนด์และความน่าเชื่อถือ เพื่อจะทำให้คนรู้สึกว่าหากต้องการค้นหาข่าว ต้องค้นจากสำนักข่าวนี้หรือสื่อนี้เท่านั้น

“สำนักข่าวใหญ่ๆในอเมริกาหรือยุโรป จะมีเว็บไซต์เป็นช่องทางหลัก ผลิตเนื้อหาข่าวสาระวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 ชิ้น แต่ก็ไม่ได้นำทั้ง 200 ชิ้นไปลง เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูป เลือกแค่บางชิ้นที่เหมาะ แล้วก็นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่เขาทำมากกว่านั้น คือสร้างความน่าเชื่อถือ ให้คนกดพิมพ์ค้นหาในกูเกิล แล้วเข้ามาหาเขาบนเว็บไซต์ โดยหน้าตาของเว็บไซต์ ก็จะต้องทำให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อหรือน่ารำคาญ เพราะนอกจากกดเข้ามาดูข่าวนั้นแล้ว คนที่เข้ามาก็จะสามารถกดเข้าไปอ่านข่าวอื่นๆได้มากขึ้นด้วย”

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกเหนือจากการต้องเร่งปรับตัว คือ ประเทศไทย เป็นประเทศที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง ทำให้ต้องหันไปพึ่งพา กฎ ระเบียบ จากแพลตฟอร์มต่างชาติทั้งหมด

“ข่าวหนึ่งชิ้นที่เรารายงานกัน กฎหมายในการนำเสนอภาพเชิงจริยธรรมสื่อมวลชน เราผ่านไม่มีปัญหา แต่บนแพลตฟอร์ม ข่าวเดียวกันนั้นอาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่อง ยาสมุนไพร ในประเทศไทยเรานำเสนอไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้านำเสนอบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เขาไม่รับรอง หากเราทำอยู่ 2-3 ครั้ง ถึงขั้นถูกปิดเพจได้เลย ซึ่งลองคิดดูว่า หากเราทำเพจที่มีคนติดตาม 2-3 ล้าน วันดีคืนดีถูกปิดเพจ สิ่งนั้นก็จะหายไปทันที ดังนั้นการมีแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศ ก็เป็นเรื่องสำคัญ”

“หลังจากนี้การปรับตัวของสื่อ ผมเชื่อว่าทุกคนเก่งกันอยู่แล้วไม่ว่าจะสื่อค่ายไหน แต่ที่ต้องจับตาคือ พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนเร็วมากๆ ต่อไปไม่จำเป็นต้องมีทุกข่าว แต่มันจะเหลือแค่ข่าวที่น่าสนใจ สำนักนี้เก่งด้านไหน ชอบอะไร ก็จะเหลือแค่นั้น เพราะคนจะเริ่มเลือกอ่านคอนเทนท์ ตามแบรนด์มากขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นโจทย์ใหญ่ ที่จะมีความท้าทายและสำคัญมากๆ สำหรับคนทำสื่อ” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวทิ้งท้ายให้คิด
 

ที่มา