WHO แนะบทบาทสื่อฯ ในวิกฤติวัคซีนโควิด

06 มิ.ย. 2564 | 19:00 น.

ผู้แทน WHO ประเทศไทย หรือ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย แนะบทบาทสื่อมวลชน ในวิกฤติวัคซีนโควิด พร้อมเผยวิธีรับมือ Fakenews

เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 64 องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (World Health Organization Thailand) จัดเวทีให้ความรู้สื่อมวลชนในประเทศไทย ในหัวข้อ "การกระจายวัคซีนในประเทศไทย" ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวัคซีนโควิด เพื่อสนับสนุนประชาชนและภาครัฐในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเชิญตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจะมาให้ข้อมูลทางวิชาการ

โดยตอนหนึ่ง นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า WHO ห่วงการนำเสนอข่าวแบบไหนเกี่ยวกับวัคซีน ที่สื่อมวลชนต้องระวัง รวมทั้งประชาชนต้องระมัดระวังข่าวแบบไหนเช่นกัน

WHO แนะบทบาทสื่อฯ ในวิกฤติวัคซีนโควิด

นายแพทย์แดเนียล กล่าวว่า เราเห็นชัดเลยว่า ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด ข้อมูลหลากหลายและสับสนมาก บางทีไม่ใช่แค่ตัวโรคอย่างเดียว แต่วัคซีนอันไหนอย่างไร ดังนั้น การที่เราทำงานร่วมกับสื่อเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก และก็เป็นกลไกสำคัญในการช่วยควบคุมและป้องกันโรค การส่งเสริมการไปรับวัคซีนของประชาชนด้วย เพราะฉะนั้น สื่อควรจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ควรจะให้ประชาชนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากเกิดอะไรขึ้นคือ สามารถประเมินตัวเองได้ว่าอยู่กลุ่มไหน ควรจะไปลงทะเบียนทำอะไรอย่างไร 

ทั้งนี้ สื่อเป็นตัวหลักที่ช่วยกระจายข้อมูลที่ถูกต้องและส่งเสริมการไปรับวัคซีน อยากจะกระตุ้นเพื่อนๆ สื่อมวลชนอีกที ไม่ใช่วัคซีนป้องกันชีวิตได้อย่างเดียว การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะป้องกันชีวิตได้ด้วย อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เป็นสิ่งที่ WHO เองก็พูด ทางสื่อ ทางรัฐเองก็พูด ว่า ระหว่างที่เราให้คนฉีดวัคซีนได้มากพออย่าการ์ดตก ไม่ใช่ว่าวัคซีนมาแล้วทุกอย่างจะหายไป เราก็ต้องใส่หน้ากากเหมือนเดิม ล้างมือเหมือนเดิม Social Distancing เหมือนเดิม อย่าคิดว่า เดี๋ยววัคซีนมา คนฉีดแล้ว ทุกอย่างจะหายไป มันไม่ได้เป็นแบบนั้น อยากจะเป็นสิ่งที่ให้สื่อช่วยกระตุ้นด้วยว่า ให้ทุกคนมาฉีดวัคซีน แล้วก็ป้องกันตัวเองเช่นเดิม

นอกจากนี้ นายแพทย์แดเนียล ยังตอบคำถามที่ถามว่า WHO มีแนวทางการจัดการ Fake News ในเรื่องของการระบาดและวัคซีนอย่างไรว่า การจะสู้กับ Fake News จริงๆ สู้ยากกว่าโรคอีก เพราะมันไม่เห็นว่ามาจากไหน มาได้ยังไง พูดง่ายๆ คือ ต้องให้สื่อกระแสหลักทำรีเสิร์ชให้ดีๆ เช็กข้อมูลให้ดีๆ ฟังใครก็ฟังคนที่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่าไปหยิบตรงนั้นตรงนี้ที่มาจากไหนก็ไม่รู้ เรียกว่าให้ทำ Investigative Journalism หรือการสื่อสารเชิงสอบสวน การหาข่าวเชิงสอบสวน ให้เช็กให้ดีๆ เพราะว่าทุกคนก็มีบทบาทหน้าที่ เพราะสื่อไม่ใช่แค่ผู้รายงาน แต่ต้องเป็นผู้รายงานสิ่งที่ถูกต้อง เราจะสู้สิ่งที่ผิดได้ ก็คือเอาสิ่งที่ถูกไปให้เยอะกว่านั้น อันนี้จะต้องทำเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าโรคระบาดอย่างเดียว เรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สื่อสิ่งที่ดีออกไปก็จะเป็นการกำจัดสิ่งที่ไม่ดีได้ อีกอย่างคือความเชื่อมั่น จะต้องเชื่อมั่นในหลายๆ ส่วน เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ 

แล้วก็ประเทศไทย คนก็ค่อนข้างเชื่อมั่นบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างมาก ไปถึง อสม. ต่างๆ ระดับนั้นเลย แล้วเราก็เห็นหลายๆ ประเทศ เช่น ภูฎาน ที่รัฐบาลทำให้ประชาชนเชื่อถือ ก็จะทำให้การฉีดวัคซีนทำได้มากขึ้น เพราะเชื่อมั่นสิ่งที่รัฐบาลบอกมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความเชื่อมั่นกันและกัน จะบริหารจัดการทุกอย่างได้ง่ายขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการโรคด้วย แล้วก็ส่งผลต่อการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นด้วย

“ถ้าจะขอร้องสักข้อหนึ่งถึงสื่อมวลชนก็อยากให้อย่าคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ สื่อสำคัญมาก ช่วยชีวิตคนอื่นได้ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะความมีประสิทธิภาพของวัคซีน ความปลอดภัยของวัคซีน ความจำเป็นในการไปฉีดและรับวัคซีน เป็นสิ่งที่อยากจะขอร้องให้สื่อกระจายให้ประชาชนเข้าใจถูกต้องด้วย” นายแพทย์ แดเนียล กล่าว

ที่มา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ข่าวที่เกียวข้อง :