ไมโครซอฟท์แนะองค์กรปรับสู่ดิจิทัลรับมือโควิด

07 พ.ค. 2564 | 16:00 น.

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์ บริษัท ฟิวชั่น โซลูชั่น จำกัด เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเร่งปรับทิศทางธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมดิจิทัลให้เต็มศักยภาพ เพื่อความคุ้มค่า และเพื่อสร้างโอกาส ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบด้านในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมชูสองเรื่องราวตัวอย่างจากองค์กรไทยในการปรับธุรกิจด้วยดิจิทัลในยุคโควิด

องค์กรทั่วโลก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการที่จะต้องปรับตัวเข้าหาสภาพตลาดและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงหลังการระบาดของโควิด-19 การสำรวจของไมโครซอฟท์ ทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอเมริกาเหนือ ต่างให้มุมมองที่สอดคล้องกัน โดยกว่า 61% ขององค์กรทั้งในอเมริกาเหนือ และประเทศไทย ได้ตัดสินใจเร่งการทำ Digital Transformation ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก และความต้องการที่เร่งรัดยิ่งขึ้นนี้ก็ทำให้หลายองค์กรต้องการพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยคิด ช่วยทำ เรียนรู้การปรับตัวเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้ตรงกับโจทย์ขององค์กรอย่างรวดเร็วที่สุด

การเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วภายใต้ความกดดันจากปัจจัยภายนอกนี้ ทำให้หลายองค์กรได้เล็งเห็นถึงช่องว่างที่ยังต้องเติมเต็มในหลายด้าน เช่นในประเทศไทย มีองค์กรราว 39% ที่ยังไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กรมาปรับใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดีขึ้นได้ และมีเพียง 47% ที่กล้าใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรปรับเปลี่ยนธุรกิจได้อย่างแท้จริง หรือสร้างศักยภาพความยืดหยุ่นที่เรียกว่า “Resilience” ให้เกิดขึ้น

นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด “การที่เราจะเร่งรับมือกับความเปลี่ยนแปลง อย่างกระบวนการ Digital Transformation นี้ จำเป็นต้องมีคู่คิดที่เข้าใจในโจทย์ที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งไมโครซอฟท์ในประเทศไทยนั้น ทำงานกับพาร์ทเนอร์ทั้งเครือข่ายอย่างทั่วถึงเพื่อสนับสนุนให้องค์กรไทยได้ก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปพร้อมกัน โดยขณะเดียวกัน เรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีแนวคิดที่น่าสนใจ เช่นตัวอย่างของ ฟิวชั่น โซลูชั่น”

บริษัท ฟิวชั่น โซลูชั่น จำกัด ได้เป็นพาร์ทเนอร์ของไมโครซอฟท์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยในระหว่างนั้น ทีมงานของฟิวชั่นได้มุ่งยกระดับศักยภาพในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง จนสามารถคว้ารางวัล Partner of the Year 2020 ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในสาขา Azure Rookie มาครอง ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งในการแข่งขัน Power Up Hackathon for Thai SMEs 2021 ด้วยผลงานระบบบันทึกการขายสำหรับธุรกิจค้าปลีก “M365POS”

ไมโครซอฟท์แนะองค์กรปรับสู่ดิจิทัลรับมือโควิด

นายเสกสรร ดุษฎีวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ฟิวชั่น โซลูชั่น จำกัด เผยว่า “ ผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนทำงานมาตลอดทุกยุคทุกสมัย และในปัจจุบัน แพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ก็ได้ขยายขอบเขตและความสามารถขึ้นมาอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของคลาวด์และดาต้า จนกระทั่งมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจยุคนี้ สำหรับเราแล้ว หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานร่วมกับลูกค้าคือการสนับสนุนให้พวกเขาได้เข้าใจและใช้งานเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือให้ครบถ้วนและเต็มศักยภาพที่สุด ซึ่งในหลายกรณี หลักการนี้ก็สามารถตอบโจทย์ด้านต่างๆ ขององค์กรลูกค้าได้เป็นอย่างดี หรืออาจถึงกับช่วยพลิกโมเดลธุรกิจสู่โลกดิจิทัลได้อย่างเต็มตัวยิ่งขึ้น โดยที่แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม”

หนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่น่าสนใจที่สุดภายใต้ความร่วมมือของฟิวชั่นกับไมโครซอฟท์ คือกรณีของบริษัท ฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม) จำกัด ที่ได้ยกระดับธุรกิจมาสู่ความเป็นผู้ให้บริการด้านอาหารแบบครบวงจร ต่อยอดประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้กว่า 33 ปีในการตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มธุรกิจอาหาร ครอบคลุมทั้งร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน ตลาดสด ตลอดจนธุรกิจ SME และโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดค้าปลีก

ฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม) เลือกที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ธุรกิจการบริการลูกค้าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ความคล่องตัวกลายเป็นสิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจอาหารที่มีสินค้าหลากหลายชนิดจากหลายแหล่ง ควบคู่กับความต้องการที่แตกต่างกันอย่างมากของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และหนึ่งในโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ของฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม) มากที่สุด ก็คือ Power Apps แพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานในองค์กรด้วยตัวเอง” นายเสกสรรเผย

นายดนุภพ ศัตรูลี้ รองผู้อำนวยการฝ่ายระบบข้อมูลเพื่อการบริหารธุรกิจ บริษัท ฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทเทรดดิ้งที่ทีมขายคือหนึ่งในทีมงานหลัก แต่ต้องรับมือทั้งกับการเดินทางไปมาบ่อยครั้ง เอกสารในรูปแบบกระดาษจำนวนมาก และยังมีสินค้าเป็นอาหารที่มีระยะเวลาการจัดส่งและวันหมดอายุแตกต่างกันไปถึงกว่า 1,500 ชนิด เราจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างเครื่องมือดิจิทัลที่สามารถเพิ่มศักยภาพของทีมขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และด้วยคำแนะนำจากฟิวชั่น โซลูชั่น เราได้นำเครื่องมือบน Microsoft 365 ที่เรามีในมืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Power BI หรือการสร้างแอปพลิเคชันใหม่ด้วยตัวเองใน Power Apps มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันของเราเองได้อย่างรวดเร็ว เพียง 2-3 วันก็สามารถเปิดให้ทีมงานทดลองใช้ และยังสามารถปรับแก้ไขตามฟีดแบคที่ได้รับมาได้ทันที เพื่อให้ตรงกับความต้องการใช้งานของทุกฝ่าย”

ไมโครซอฟท์แนะองค์กรปรับสู่ดิจิทัลรับมือโควิด

ปัจจุบัน ผู้แทนขายสามารถเรียกดูข้อมูลตามจริง ทั้งสต๊อกสินค้า ยอดขายของตัวเอง หรือข้อมูลลูกค้า ได้สะดวกง่ายดายบนแอปพลิเคชันที่ฟู้ดโปรเจ็คพัฒนาด้วยตนเอง ใช้งานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นๆ โดยลดขั้นตอนการสื่อสารจากเดิมที่ต้องผ่านหลายฝ่าย ทำให้การเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้านั้นมีประสิทธิภาพ ลดข้อมูลผิดพลาด หรือการสื่อสารซ้ำซ้อนลง และปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว ส่วน Power BI ยังสามารถติดตามอัปเดทข้อมูลล่าสุดและแสดงผลเป็นรายงานให้ได้เห็นสถานการณ์ล่าสุดแบบทันที โดยที่ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

อีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างเห็นผล คือเรื่องราวของบริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ที่จับมือกับไมโครซอฟท์และฟิวชั่น โซลูชั่น ในการวางรากฐานให้กับบริการแท็กซี่แบบครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “แค็บบ์” (Cabb)

ไมโครซอฟท์แนะองค์กรปรับสู่ดิจิทัลรับมือโควิด

โดยนายเสกสรรกล่าวอีกว่า “กรณีของแค็บบ์ ที่ถือกำเนิดได้ไม่นาน เป็นการพิสูจน์ถึงบทบาทของนวัตกรรมคลาวด์ในโลกยุคนี้ ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เหนือกว่าความคาดหมายในอดีต โดยแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure สามารถเข้ามาช่วยขับเคลื่อนบริการแท็กซี่ของบริษัทให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างที่เรียกได้ว่า end-to-end อย่างสมบูรณ์ ด้วยระบบที่ผสมผสานข้อมูลจากทั้งฝ่ายผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และห้องควบคุมกลางเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อให้บริการเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด และมอบความพึงพอใจสูงสุดให้กับทุกคน ขณะที่แค็บบ์เอง ก็สามารถบริหารจัดการทรัพยากรระบบได้อย่างแม่นยำ ด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามการใช้งานคลาวด์จริง ซึ่งสามารถเพิ่มและลดได้ตามปริมาณความต้องการใช้งานของลูกค้าในขณะนั้น”

นายสมศักดิ์ เผยอีกว่า “ความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละองค์กร ทำให้ไมโครซอฟท์เลือกที่จะมีบทบาททั้งในด้านการให้บริการด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม และการแนะนำหรือจับคู่ให้ลูกค้าและพาร์ทเนอร์อย่างเหมาะสมกันตามโจทย์ของลูกค้า โดยที่เราพร้อมให้การสนับสนุนทั้งในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมเสริมศักยภาพด้านความปลอดภัยควบคู่กับการนำ feedback ของลูกค้าและพาร์ทเนอร์มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือการทำให้องค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีไปใช้และก้าวข้ามความท้าทาย เพราะความสำเร็จของลูกค้าคือมาตรวัดความสำเร็จของไมโครซอฟท์และพาร์ทเนอร์ของเราเช่นกัน”