ไอบีเอ็มเปิดมุมมองเชิงลึก คิดแบบ CEO โอกาส-ความสำเร็จธุรกิจ

25 เม.ย. 2564 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2564 | 08:04 น.

ไอบีเอ็ม เผยมุมมองเชิงลึก “คิดแบบ CEO” เปิดโผ 5 ประเทศ 5 อุตสาหกรรม และ 5 เทคโนโลยี โอกาสที่ทุกธุรกิจต้องจับตามองในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจการระบาดโควิด 

หากย้อนมองหลายยุคสมัยที่ผ่านมา จะเห็นว่าโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจมักเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติิเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ Google ในช่วงตกตํ่าของ dotcom การเติบโตของ Facebook ท่ามกลางวิกฤติิเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือแม้แต่ไอบีเอ็มเองที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติิเศรษฐกิจที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศ ไทยชี้ว่า “ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถาน การณ์แพร่ระบาดหากในวันนี้ สิ่งที่หลายองค์กรกำลังมองหาคือโอกาสที่จะนำมาต่อยอดได้ นำสู่การสำรวจซีอีโอกว่า 3,000 คนทั่วโลกโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM) ด้วยคำถามเรียบง่ายเพียง 3 ข้อ ร่วมด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกกับซีอีโอส่วนหนึ่ง เพื่อให้ได้มุมมองเชิงลึกจริงๆ ว่าหากจะลงมือสร้างธุรกิจใหม่ในวันนี้ ประเทศไหนควรจะเป็นจุดหมายและตลาดอันดับต้นๆ อุตสาหกรรมใดที่ควรโฟกัส และเทคโนโลยีใดบ้างที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ”

“แม้จะเป็นคำถามปลายเปิด แต่คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในแง่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ ซีอีโอกว่าครึ่งต่างเห็นตรงกัน” นางสาวปฐมา อธิบาย

 

โอกาสและตลาด 5 ประเทศ

3 ประเทศในเอเชีย คือจุดหมายที่ซีอีโอส่วนใหญ่มองว่ามีศักยภาพ นำโดยอินเดีย (12%) และจีน (11%) ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศมหาศาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหากธุรกิจต้องการสเกลในอนาคต

ประเทศลำดับ 3 คืออิตาลี (8%) ที่แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ถูกจับตาเรื่องการเติบโต แต่การที่อิตาลีโดนโควิด-19 กระทบอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาด ทำให้ผู้เล่นรายใหม่มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจ โดยต่อยอดจากเส้นทางที่รายใหญ่ได้เคยกรุยทางไว้แล้ว ขณะที่ยักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกา แม้มักจะได้รับการจัดอันดับธุรกิจค่อนข้างสูง แต่ซีอีโอ ที่กำลังทำธุรกิจที่สหรัฐฯ กลับมองเห็นโอกาสที่สดใสกว่าในภูมิภาคอื่นของโลก ขณะที่สิงคโปร์ (>3%) แม้จะอยู่ในอันดับที่ 5 แต่ก็นำหน้าประเทศอย่างเยอรมนี บราซิล และญี่ปุ่น

 

โฟกัส 5 อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมบริการทางการเงินคือเป้าหมายสูงสุดของซีอีโอที่สำรวจ (12%) เพราะ มาร์จินสูงแต่ต้นทุนคงที่ตํ่า ซึ่งหมายถึง ระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่น่าดึงดูด ขณะที่ค้าปลีกรั้งอันดับ 2 (9%) เนื่องจากซีอีโอยังเห็นโอกาสจากการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมถึงโอกาสใหม่ๆ จากอี-คอมเมิร์ซ

ที่น่าแปลกใจคือการที่อุตสาหกรรมการผลิตรั้งอันดับ 3 (9%) ทั้งที่การผลิตคือเรื่องของต้นทุนคงที่ที่สูง ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุน อีกทั้งยังต้องพึ่งพาซัพพลายเชนซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่โดนกระทบหนักในปีที่ผ่านมา กระนั้น ซีอีโอกลับมองเห็นโอกาสที่จับต้องได้จากอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะจากกลุ่มสตาร์ทอัพที่ผนึกนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งซีอีโอที่สำรวจมองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้คือส่วนหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเติบโต

 

ไอบีเอ็มเปิดมุมมองเชิงลึก คิดแบบ CEO โอกาส-ความสำเร็จธุรกิจ

 

อันดับ 4 คือสินค้าอุปโภคบริโภค (9%) เพราะซีอีโอมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคนิวนอร์มัล ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคได้ทันท่วงที ส่วนอันดับ 5 คืออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ (5%) สืบเนื่องจากโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงการที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดโควิด-19

 

5 เทคโนโลยีนำพาธุรกิจ

Artificial Intelligence (AI) รั้งอันดับ 1 เทคโนโลยีที่จะเข้ามาสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ตามมาด้วย อันดับ 2 Robotics และอันดับ 3 Internet of Things (IoT) ที่ถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับงานที่ต้องทำซํ้าๆ หรือเป็นแพทเทิร์น อันจะนำสู่การลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดของการทำงานแบบแมนวล และช่วยให้บุคลากรสามารถโฟกัสที่งานที่จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับองค์กรแทน

อันดับ 4 คือ Augmented Reality/Virtual Reality (AR/VR) ที่ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนอันดับที่ 5 คือ Cloud Computing ซึ่งถูกมองว่าเป็นศูนย์ กลางที่จะรองรับและช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่นๆ การที่ทั้งห้าเทคโนโลยีนี้ต้องทำงานร่วมกันหรือพึ่งพากัน ยังสะท้อนมุมมองของซีอีโอ ที่มองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นตัวกำหนด อนาคตของธุรกิจต่อไป

“ปี 2564 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและความเปิดกว้างพร้อมขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ความเปลี่ยนแปลง เพราะองค์กรที่จะรอดพ้นจากวิกฤติิและกลับมาเฉิดฉายอย่างเต็มภาคภูมิ หรือธุรกิจใหม่ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ย่อมไม่ใช่ผู้ที่พร้อมที่สุด เร็วที่สุด หรือแข็งแกร่งที่สุด แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปได้มากที่สุด” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,673 หน้า 16 วันที่ 25 - 28 เมษายน 2564