ธุรกิจการเงินตื่นปฎิรูป รับการแข่งขันฟินเทค

12 เม.ย. 2564 | 05:00 น.

ธุรกิจบริการการเงินตื่นปฎิรูปองค์กร หาวิธีรักษาลูกค้า ต่อกรผู้เล่นฟินเทค คาดว่าจะได้เห็นการเร่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกิดใหม่ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบแมนนวลให้เป็นอัตโนมัติ และเพิ่มผลิตภัณฑ์ดิจิทัล

นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ เปิดเผยว่า ตลอดปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบริการด้านการเงินดั้งเดิม ต่างเริ่มตื่นตัวรับรู้ถึงโอกาสที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในอดีตองค์กรธุรกิจด้านนี้มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้อย่างช้าๆ แต่ก็เป็นภาคธุรกิจระดับแนวหน้าที่มีความพยายามในการปฏิรูปองค์กร เห็นได้จากการมองหาวิธีการต่างๆ ที่จะรักษาลูกค้า และหาวิธีทำให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กร เมื่อต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 และหาวิธีต่อกรกับการแข่งขันจากเหล่าผู้เล่นฟินเทคที่มีความคล่องตัวกว่า

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า หนึ่งในพัฒนาการด้านฟินเทคที่เด่นชัดที่สุดของไทยคือการพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินผ่านอุปกรณ์โมบาย นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลหรือ Biometrics มาใช้ การพัฒนาระบบ (NDID) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพิสูจน์ยืนยันตัวตน ช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลายครั้ง เช่น การเปิดบัญชีและการขอสินเชื่อ

นอกจากความท้าทายจากฟินเทคแล้ว การแพร่ระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งที่ทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้พยายามตอบความคาดหวังของลูกค้าที่ต้องการใช้บริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลแบงค์กิ้ง การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล การซื้อประกัน และการให้บริการด้านสินเชื่อต่างๆ ซึ่งต้องปรับตัวนำโซลูชั่นที่ทันสมัยมาใช้

 

บริษัท ที ลิสซิ่ง จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ของไทย อัพเกรดระบบงานหลักเพื่อรองรับการทำงานในปัจจุบันที่บริษัทปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์มูลค่ามากกว่าเดือนละ 500 ล้านบาท และนำแอพพลิเคชั่น H-Meter 2020 ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยบริษัท ซีเนียร์คอม จำกัด บนโครงสร้างพื้นฐานไฮเปอร์คอนเวิร์จของนูทานิคซ์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถเร่งความเร็วในการอนุมัติสินเชื่อจากเดิมภายใน 15 นาที เหลือเพียงภายใน 5 นาที นอกจากนี้ยังรองรับกฎระเบียบใหม่ๆ และปลอดภัย รวมถึงการนำแชทบอตและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเร่งการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว และให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร

 

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ธุรกิจการเงินตื่นปฎิรูป รับการแข่งขันฟินเทค

 

เช่นเดียวกับธุรกิจด้านการธนาคาร ข้อมูลจากการสำรวจของ FICO ระบุว่าคนไทย 59% นิยมติดต่อธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัลในช่วงที่ประสบปัญหาด้านการเงิน (44% ผ่านโมบายแบงก์กิ้ง และ 15% ผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง) แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินดั้งเดิม จำเป็นต้องมีความคล่องตัวมากขึ้นและเร่งนำนวัตกรรมมาใช้ให้เร็วขึ้นเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์นี้ ดังนั้นในปีนี้นูทานิคซ์คาดว่าจะได้เห็นการเร่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกิดใหม่ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบแมนนวลให้เป็นอัตโนมัติ และเพิ่มผลิตภัณฑ์ดิจิทัล

 

หัวใจของการทำงานรูปแบบใหม่จะอยู่ในรูปแบบของโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่สร้างจากไฮบริดและมัลติคลาวด์ มีการนำไฮบริดคลาวด์มาใช้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นความต้องการที่เจาะจงของบริการด้านการเงิน และเหมาะอย่างยิ่งกับ สภาพแวดล้อมไฮบริดและมัลติคลาวด์ กล่าวคือ พับลิคคลาวด์มอบความยืดหยุ่นและความคล่องตัว ในขณะที่ไพรเวทคลาวด์มีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยและมอบความสามารถในการควบคุมได้ในระดับสูง ไฮบริดและมัลติคลาวด์เป็นการรวมคุณสมบัติของคลาวด์ทั้งสองประเภทนี้เข้าด้วยกัน

นายทวิพงศ์ กล่าวต่อไปว่าบริษัทที่ให้บริการด้านการเงินจำเป็นต้องมีความคล่องตัว และมีแนวคิดที่เปิดกว้างให้เท่าทันเทคโนโลยีที่ลูกค้าใช้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทุกอย่างตั้งแต่การสร้างโมเดลธุรกิจและเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่สร้างอย่างเจาะจงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้ และแน่นอนว่าไฮบริดและมัลติคลาวด์ เป็นกำลังสำคัญสู่ความสำเร็จเหล่านี้ 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,669 หน้า 16 วันที่ 11 - 14 เมษายน 2564