ไอบีเอ็มรั้งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่อง 28 ปี

25 มี.ค. 2564 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2564 | 19:24 น.

ไอบีเอ็ม รั้งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่อง 28 ปี โดดเด่นนวัตกรรมเอไอ ไฮบริดคลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และไซเบอร์ซิเคียวริตี้   การเป็นผู้นำด้านสิทธิบัตรอย่างยาวนาน ย้ำพันธกิจระยะยาวของไอบีเอ็มที่มุ่งเน้นการค้นคว้าและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์

ไอบีเอ็มเปิดเผยว่า ในปี 2563 นักวิจัยของบริษัทฯ ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ ถึง 9,130 ฉบับ ซึ่งถือว่ามากที่สุด และส่งผลให้บริษัทครองตำแหน่งผู้นำสิทธิบัตรต่อเนื่องเป็นปีที่ 28 ตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมด้วยสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และซิเคียวริตี้

"เวลานี้ถือเป็นช่วงที่โลกกำลังต้องการนวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่าครั้งไหน ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไอบีเอ็มในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในช่วงที่สถานการณ์เป็นปกติและในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนั้น ได้ปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้านไอทีที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าและสังคมของเราเป็นอย่างมาก" นายแดริโอ จิล รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม กล่าว

ไอบีเอ็มรั้งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่อง 28 ปี

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มเป็นผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาในหลากหลายสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ

การทำให้เอไอใช้งานง่ายขึ้น

ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับเอไอมากกว่า 2,300 ฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่เวอร์ชวลสามารถเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์ของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงเอไอที่สามารถสรุปประเด็นที่มีสำคัญต่อการตัดสินใจได้ จากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและคำพูด และให้คำแนะนำผ่านภาพที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้คนสามารถทำการตัดสินใจที่ยากลำบากได้

ไอบีเอ็มเน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ระบบออโตเมชัน อีกทั้งยังผนวกความสามารถใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็มเข้ากับไอบีเอ็ม วัตสัน อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ไอบีเอ็มประกาศให้บริการ Project Debater เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอไอที่สามารถย่อยข้อมูลมหาศาล ก่อนที่จะประกอบถ้อยคำออกมาเป็นบทอภิปรายในหัวข้อที่กำหนด และถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนและมีวัตถุประสงค์

การติดตั้งระบบไฮบริดคลาวด์ที่เอดจ์

ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคลาวด์และไฮบริดคลาวด์มากกว่า 3,000 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นตอบโจทย์การตัดสินใจที่ยากลำบากข้อหนึ่งที่ซีไอโอต้องเผชิญในปัจจุบัน คือการตัดสินใจว่าข้อมูลใดควรได้รับการประมวลผลผ่านระบบที่ติดตั้งอยู่ในองค์กร และข้อมูลใดควรได้รับการประมวลผลบนระบบคลาวด์ นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกระจายคอมโพเนนท์การประมวลผลข้อมูลต่างๆ ระหว่างระบบคลาวด์ เอดจ์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้สามารถใช้ระบบไฮบริดคลาวด์สำหรับเวิร์คโหลดด้านไอโอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นคำแนะนำในการขับขี่ที่สร้างขึ้นโดยระบบ GPS ซึ่งมีความไวต่อเวลาแฝง เป็นต้น

เอดจ์และไฮบริดคลาวด์เป็นมิติสำคัญในโร้ดแมปผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็ม ในปี 2563 ไอบีเอ็มได้เปิดตัวไอบีเอ็ม Edge Application Manager ซึ่งเป็นโซลูชันการจัดการอัตโนมัติเพื่อให้สามารถติดตั้งและบริหารจัดการเวิร์คโหลดเอไอ อนาไลติกส์ และไอโอที ได้จากระยะไกล เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกแบบเรียลไทม์ในสเกลใหญ่ นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไอบีเอ็มยังได้เปิดตัว IBM Cloud for Telecommunications เพื่อช่วยให้องค์กรใช้ประโยชน์จากเอ็ดจ์และ 5G โดยบริการไฮบริดแบบองค์รวมนี้ ได้ใช้ความสามารถในการเข้ารหัสที่ก้าวล้ำของไอบีเอ็ม ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถจัดการเวิร์คโหลด mission-critical ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ตั้งแต่แกนหลักของเครือข่ายไปจนถึงเอ็ดจ์ เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้รับคุณค่าจากข้อมูลมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการสร้างนวัตกรรมให้กับลูกค้ามากขึ้น

การวางรากฐานสำหรับการใช้งานควอนตัมอันทรงพลัง

ควอนตัมคอมพิวติ้งเป็นโฟกัสสำคัญของไอบีเอ็ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการเป็นผู้นำสิทธิบัตรควอนตัมคอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม ตัวอย่างเช่น สิทธิบัตรที่ลดความยุ่งยากในการทำแผนที่จำลองโมเลกุลควอนตัมบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาการจำลองปฏิกิริยาทางเคมีบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม เพื่อให้เห็นภาพว่ากระบวนการค้นพบวัสดุและเภสัชภัณฑ์ใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไร นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังได้รับสิทธิบัตรที่ถือเป็นการวางรากฐานในการวิเคราะห์และคำนวณความเสี่ยงบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวคิดเหล่านี้กำลังได้รับการต่อยอดผ่านงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆ

การเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่สุดในโลก

นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมากกว่า 1,400 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการเข้ารหัสแบบ fully homomorphic encryption หรือ FHE ซึ่งเป็นวิธีที่ไอบีเอ็มบุกเบิก เพื่อประมวลผลข้อมูลที่ยังคงเข้ารหัสอยู่ในระหว่างการประมวลผล ซึ่งเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับข้อมูล โดยก่อนหน้านี้ หากต้องการประมวลผลข้อมูลที่เข้ารหัส ผู้ใช้จะต้องทำการถอดรหัสข้อมูลก่อนที่จะประมวลผลและเข้ารหัสผลลัพธ์อีกครั้ง ทำให้ข้อมูลตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นในขณะที่ไม่ได้เข้ารหัส นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้จดสิทธิบัตรสำหรับเทคนิคที่ช่วยให้สามารถจัดระเบียบข้อมูลที่เข้ารหัส เพื่อช่วยให้สามารถทำการเปรียบเทียบเว็คเตอร์ FHE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูงสุด ไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ ได้เปิดตัวบริการที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถทดลองใช้การเข้ารหัสแบบ fully homomorphic encryption ในเดือนธันวาคมปี 2563

ไอบีเอ็มรั้งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่อง 28 ปี

ในปีที่ผ่านมา นักประดิษฐ์ไอบีเอ็มกว่า 9,000 คน จาก 54 ประเทศ ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐ โดยตั้งแต่ปี 2463 เป็นต้นมาไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสหรัฐมากกว่า 150,000 ฉบับ และได้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมสำคัญของโลก ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลแบบดิสก์แม่เหล็ก ไปจนถึงการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมที่มีส่วนสำคัญต่อการสรรค์สร้างนวัตกรรมของบริษัทฯ มาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญต่อทั้งลูกค้าของไอบีเอ็มและต่อโลกใบนี้

ในเดือนเมษายน 2563 ไอบีเอ็มยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งโครงการ Open COVID Pledge ซึ่งให้สิทธิ์การเข้าถึงสิทธิบัตรกว่า 80,000 ฉบับทั่วโลกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แก่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย ป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโคโรนาไวรัส