EECi จับมือ เอกชนจีน ขับเคลื่อนศูนย์นวัตกรรม SMC

10 ก.พ. 2564 | 19:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2564 | 04:47 น.

EECi จับมือ เอกชนจีน ขับเคลื่อนศูนย์นวัตกรรม SMC ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถโรงงานไทย สู่อุตสาหกรรม 4.0

     ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เปิดเผยว่า สวทช. และเซียซุนได้ร่วมมือกันในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม SMC-SIASUN ขึ้นที่ EECi ซึ่ง EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมสำคัญของประเทศ กำกับดูแลโดย สวทช. มีพันธกิจหลักในการมุ่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์เพื่อรองรับการขยายขนาดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง และการปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้ากับบริบทอุตสาหกรรมของประเทศไทย

EECi จับมือ เอกชนจีน ขับเคลื่อนศูนย์นวัตกรรม SMC

      ทั้งนี้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมสำคัญของ EECi ในการสนับสนุน ส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถในอุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทย ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ด้วยการประยุกต์ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดย สวทช. มีแผนที่จะให้ศูนย์นวัตกรรม SMC เป็นศูนย์กลางการบริการที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมภาคการผลิตของประเทศ ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษให้สอดคล้องกับบริบทของไทย อาทิ การประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 การให้คำปรึกษาทางธุรกิจและทางเทคนิค การฝึกอบรมอุตสาหกรรมภาคการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้เกิดทักษะใหม่และมีทักษะที่สูงขึ้น อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับใช้ทดสอบ/ทดลอง (Industry 4.0 test-bed) ในการทำนวัตกรรมอีกด้วย”

     ด้านนาย Zhao Chen ประธานกรรมการบริหาร SIASUN AUTOMATION (SINGAPORE) กล่าวว่า ในฐานะบริษัทชั้นนำจากประเทศจีน เซียซุน คอร์ปอเรชั่นได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็นบริษัทไฮ-เทคระดับโลกที่บูรณาการนวัตกรรม วิจัยพัฒนาและการผลิตหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และสาขาที่เกี่ยวข้อง เซียซุนจะผนึกกำลังกับสวทช. ในการพัฒนาหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไอโอทีเพื่อภาคอุตสาหกรรม คลาวด์คอมพิวเตอร์ บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมภาคการผลิตของประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน

 

     สำหรับศูนย์นวัตกรรม SMC ภายใต้ EECi ARIPOLIS ได้รับอนุมัติกรอบงบประมาณจาก ครม. 5,400 ล้านบาท โดยงบประมาณหลักในระยะแรกจะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมสำคัญ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ ศูนย์นวัตกรรม SMC ยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการไทย EECi หน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนพัฒนาโครงการนำร่องที่เรียกว่า IDA Platform (Industrial IoT and Data Analytics Platform) โดยเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจากอุปกรณ์IoT (Internet of Things) ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต สู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ทำให้ทราบสถานภาพของเครื่องจักร นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน ปัจจุบัน มีโรงงานนำร่องเข้าร่วมโครงการในปี 2563 จำนวน 15 โรงงาน และจะขยายไปอีก 500 โรงงานภายในเวลา 3 ปี