ศรีปทุมผุด D Club ปั้น‘ดิจิทัลคอนเทนต์’ป้อนตลาด

12 ธ.ค. 2563 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2563 | 15:18 น.

ConceptD จับมือศรีปทุม เปิด “ศูนย์สร้างสรรค์สื่อดิจิทัล (D Club) ปั้นแรงงาน “ดิจิทัลคอนเทนต์” ป้อนตลาด

          ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในปี 2562 มีมูลค่า 31,080 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 11.51% เมื่อเทียบกับปี 2561 และคาดว่าจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมถึง 45,094 ล้านบาทในปี 2565 ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการสร้างงานดิจิทัลคอนเทนต์ที่มากขึ้นทำให้เห็นความต้องการแรงงานหรือบุคลากรทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อีกทั้งในปี 2562 บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ลดลง 12.04% เหลือเพียง 5,021 คน จากปี 2561 ที่มีจำนวนบุคลากรอยู่ที่ 5,708 คน ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับในอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย

        ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดี คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ConceptD ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิด “ศูนย์สร้างสรรค์สื่อดิจิทัล (Digital Club) หรือ D Club มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อเป็นสนามฝึกฝนฝีมือและพัฒนาศักยภาพในรูปแบบของบริษัทเสมือนจริงให้นักศึกษาได้ทำงานจริง ขณะที่เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นสองสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยังมีโอกาสในการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 จากการรักษาระยะห่าง, การงดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นภาวะเสี่ยง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตเพิ่มมากขึ้นทั้งโมบายล์ พีซีหรือคอนโซลเกม ในรูปแบบของ VR, AR หรือ eSport ล้วนมีความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

ศรีปทุมผุด D Club ปั้น‘ดิจิทัลคอนเทนต์’ป้อนตลาด

“สถานการณ์ของโควิด 19 นั้นเข้ามาขับเคลื่อนไอเดียนี้ เนื่องจากองค์กรหรือบริษัทต่างๆ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องจ้างพนักงานประจำ D Club ช่วยให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปี 3-4 สามารถทำงานไปพร้อมๆ กับการเรียนได้โดยเป็นบริษัทเสมือนจริงที่สามารถรับงานจากองค์กรภายนอกได้ ทั้งคอนเทนต์ด้าน VR ดิจิทัลอาร์ท กราฟิก อินเทอร์แอกทีฟและเกม โดยนักศึกษาที่จบการศึกษาไป สามารถเป็นผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพ ก่อตั้งบริษัทของตัวเองได้ ซึ่งนักศึกษาที่ D Club นั้นจะได้หน่วยกิตเทียบเท่ากับการไปฝึกงานนอกสถานที่ ซึ่งหากนักศึกษาที่มีฝีมือจะได้รับค่าตอบแทนตั้งแต่ 3,000-12,000 บาท”

     ด้านนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า.  “ดิจิทัลคอนเทนต์” เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนในปัจจุบันด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เสพสื่อดิจิทัลกันมากขึ้น และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ภาคการศึกษาจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม ปัจจุบัน 15% ของกลุ่มคนที่ซื้อโน้ตบุ๊ก อุปกรณ์ หรือเดสท็อปนั้นมีการซื้อเพื่อใช้ในการทำกราฟิก หรือดิจิทัล อาร์ท โดยความคาดหวังของการร่วมมือในครั้งนี้คือ ต้องการให้ทางผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการของทาง D Club โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือบริษัทใหม่ที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทางเอเซอร์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม หากอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้น

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,635   หน้า 16 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม 2563