โชว์แผนปั้น ‘ปุณณวิถี’ สู่ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค

09 ธ.ค. 2563 | 15:35 น.

NIA จับมือทรูฯ ชูแผนดันปุณณวิถีสู่ “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” พื้นที่สร้างทาเลนท์ด้านดิจิทัล พร้อมร่วมฟิวเจอร์ เทลส์ แล็บ ขับเคลื่อน “อนาคตศาสตร์” รับมือโลกแห่งอนาคต

     ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีสู่ “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ไลฟ์สไตล์ ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมือง ซึ่งย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคในพื้นที่ปุณณวิถี จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรม การลงทุน รวมถึงเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ สถาบันเฉพาะทางด้านดิจิทัลความเป็นอยู่และสังคมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งนี้ NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น(District C-One-stop Service Center) ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพ ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำ Deep Tech เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้แก่นวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่

      สำหรับแผนการพัฒนาย่านไซเบอร์เทคนั้นเอ็นไอเอ ได้วาง ปัจจัยส่งเสริมและพัฒนา 3 ด้าน คือ 1. แผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเร่งดำเนินเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาใช้พื้นที่ภายในย่าน 2. แผนพัฒนาด้านกายภาพโดยส่งเสริมการปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายในย่าน พัฒนาพื้นที่ภายในเป็น Test Based Area สำหรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ในรัศมี 800 เมตรจากศูนย์กลางย่าน และ 3. แผนพัฒนาด้านเครือข่าย ซึ่งจะเน้นทั้งการสร้างเครือข่ายระบบนิเวศสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพรายใหม่ภายในย่าน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา

โชว์แผนปั้น ‘ปุณณวิถี’ สู่ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค      นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) กับศูนย์วิจัยด้านอนาคตศึกษาของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จํากัด (MQDC) หรือศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) ที่จะนำเครื่องมือด้านการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการออกแบบอนาคต เพื่อสร้างความเปลี่ยน แปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการใช้ชีวิต โดยมีเป้าหมายการพัฒนาสำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1. พัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและ ระดับนานาชาติ 2. พัฒนาความร่วมมือในการศึกษาและวิจัยด้านการมองอนาคต และ 3. ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้สู่สาธารณะ 

     ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) เป็นศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนรายแรกที่ทำการวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในอนาคต โดยใช้เครื่องมือการมองอนาคตเพื่อสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การคมนาคมขนส่ง

 

     ด้านนายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวต่อว่า ทรูดิจิทัล พาร์ค ถือเป็นพื้นที่ทางนวัตกรรมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในกรุงเทพฯ และในประเทศ หลังจากที่พัฒนาพื้นที่แห่งนี้มาได้ 3 ปี การส่งเสริมในมิติของทรูฯ และ NIA ได้เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลากหลายด้าน ทั้งการจัดตั้งสำนักงานของบริษัทต่างๆ จำนวน 53 ราย มีจำนวนพนักงานที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้กว่า 4,000 คน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โอกาสในการจ้างงานในด้านดิจิทัลของประเทศไทยจะมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เติบโตตามไปด้วย 

      นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จอื่นๆ ทั้งการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติจำนวน 8 ประเทศ มีสตาร์ทอัพกว่า 90 รายที่เข้ามาขอคำปรึกษาการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน รวมทั้งมีการใช้พื้นที่เพื่อการจัดกิจกรรมทั้งอีเวนต์ออนไลน์ การสัมมนา การอบรมให้ความรู้ด้านดิจิทัลซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้แล้วมากกว่า 1 ล้านคน 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,634  หน้า 16 วันที่ 10 - 12 ธันวาคม 2563