พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ร่วมโครงการ พาโลอัลโต เน็ตเวิร์กส์ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อะคาเดมี (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy) โครงการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก ที่มีจุดประสงค์เพื่อการแก้วิกฤติการขาดแคลนทักษะความปลอดภัยไซเบอร์ โดยข้อตกลงดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือในอนาคตระหว่างพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ในการให้ความรู้ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โครงการ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อะคาเดมี (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy) ประกอบด้วยกลุ่มหลักสูตรทางวิชาการและเทคนิคที่ครอบคลุมตามความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรม แต่ละหลักสูตรประกอบด้วยคำแนะนำในชั้นเรียน การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการปฏิบัติจริงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้และทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบใหม่ที่จำเป็นในบริบทปัจจุบันที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อจบหลักสูตร นักเรียนจะได้รับการรับรองในฐานะบุคลากรด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ (Certified Cybersecurity Associate) หรือผู้ดูแลระบบเครือข่ายความปลอดภัย จากพาโล อัลโตเน็ตเวิร์กส์ (Network Security Administrator)
มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยพะเยา
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “ความปลอดภัยด้านไซเบอร์เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเดินหน้าของประเทศไทยในการนำประเทศไปสู่ยุคดิจิทัล การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะและแรงงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์นั้นมีความยากลำบากมากเนื่องจากขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนด้านดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภัยคุกคามเกิดขึ้นทวีคูณในขณะที่ยังขาดแคลนบุคคลากรด้านไซเบอร์ ดังนั้นโครงการนี้ จึงมีรูปแบบการฝึกอบรมที่เหมาะสมและเฉพาะทาง และเป็นการเพิ่มทักษะแก่ผู้เข้าร่วมอบรมทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ พร้อมทั้งยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจเลือกอาชีพที่เหมาะสมในอนาคตอีกด้วย”
นางวรรณพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐสามารถร่วมลงทะเบียนรับการฝึกอบรมความปลอดภัยไซเบอร์ผ่านมหาวิทยาลัยจากโครงการ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อะคาเดมี (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy) ที่เข้าร่วมโครงการเพื่ออบรมภาครัฐ เพื่อศึกษาและต่อยอดความรู้ความเข้าใจต่อภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ที่มีปริมาณ ความซับซ้อน และความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านไซเบอร์ จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน และในบริบทสังคมดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐควรมีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี และเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยของประเทศทางด้านไซเบอร์”
ดร. ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวว่า “เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นตัวเร่งให้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทำให้จำนวนภัยคุกคามพุ่งสูงขึ้นอย่างรวมเร็ว ยิ่งทำให้ความต้องการบุคคลากรทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทวีคูณมากขึ้น สวนทางกับจำนวนของบุคคลากรด้านนี้ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันที่ยังคงขาดแคลน เราทุกคนเห็นตรงกันว่า การฝึกอบรมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็นความสำคัญลำดับต้น เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและหลากหลาย พร้อมกับการโจมตีด้านไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น จึงเป็นการคุกคามต่อวิถีชีวิตในยุคดิจิทัลของเรา ดังนั้นการพัฒนาทักษะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาควรเป็นวาระแห่งชาติ บริษัทเอกชน รัฐบาล และสถาบันการศึกษาควรร่วมมือกันเพื่อบ่มเพาะความสามารถ และส่งต่อ่ให้พวกเขาสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้”