ผ่ายุทธศาสตร์ STT GDC 5 ปี ขึ้นเบอร์ 1 ดาต้าเซ็นเตอร์

25 ก.ค. 2563 | 08:06 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2563 | 10:53 น.
973

 

   ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ที่ผ่าน จะเห็นว่าตลาดดิจิทัลมีการเติบโตที่สูงมาก โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตถึง 200-300% ส่งผลให้ปริมาณของข้อมูลหรือดาต้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยนั้นคาดการณ์มูลค่าธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 28.4% ขณะที่ค่าเฉลี่ยจากทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14-16% ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ เอสทีที จีดีซี จะเข้ามาให้บริการเพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ด้วยการสร้าง Hyper scale Data center แห่งแรกในประเทศไทย

 

•ชู 3 จุดแข็งรุกธุรกิจ

     นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ซีอีโอ บริษัท เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับจุดแข็งของเอสทีที จีดีซี ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.ไฮเปอร์สเกล ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีความสามารถในการขยายกำลังไฟและเน็ตเวิร์กให้เพียงพอเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถรองรับกำลังไฟได้ 40 เมกะวัตต์ 2. สามารถให้บริการได้ทุกธุรกิจและอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะเจาะจงกับผู้ประกอบการรายใดรายนึง 3. ความเชื่อมั่นของผู้ใช้จากการให้บริการที่ครอบคลุมในหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน อินเดีย และไทย ส่งผลให้ลูกค้าที่จะเข้ามาในประเทศ ไทยมีความคุ้นเคยและเชื่อถือในระบบการทำงาน

 

ผ่ายุทธศาสตร์  STT GDC 5 ปี ขึ้นเบอร์ 1 ดาต้าเซ็นเตอร์

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา

 

•ทุ่ม 7 พันล้าน

    ?สำหรับการลงทุนสร้าง ไฮเปอร์สเกล ดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยโครงการนี้ใช้งบประ มาณทั้งสิ้นราว 7,000 ล้าน บาท โดยแบ่งเป็น 2 เฟสในพื้นที่เดียวกันย่านหัวหมาก รวมถึงการลงทุนด้านเทคโน โลยี นอกจากเรื่องไฟและเน็ตเวิร์กแล้วจะมีอุปกรณ์ที่เข้ามารองรับการทำงานที่มีมาตรฐานด้านการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับ TIA-942 Certification Rated-3 และ Uptime Institute Tier III Certification ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และ Uptime Institute ทั้งนี้ มาตรฐาน TIA-942 ให้การรับรองครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคม และการดำเนินงานสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดดาวน์ไทม์ สำหรับมาตรฐานการรับ รองของ Uptime Institute ในระดับ Tier III เป็นการประเมินและรับรองดาต้าเซ็นเตอร์ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในระหว่างการบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์

 

 

•เจาะกลุ่มธุรกิจ OTT

   จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์หรือทิศทางธุรกิจของเอสทีที จีดีซี มาถูกทาง สิ่งที่เกิดขึ้นผลักดันให้มีการใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าที่ เอสทีที จีดีซี โฟกัสเป็นกลุ่มแรก คือ ธุรกิจ OTT (Over The Top) เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิดคนไทยมีการใช้งานแพลตฟอร์ม OTT เป็นจำนวนมาก จึงคาดการณ์ว่าแพลตฟอร์ม OTT ต่างชาติน่าจะให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดประเทศไทยเป็นหลัก ทั้งนี้เอสทีที จีดีซีต้องการผลักดันให้ประเทศ ไทยเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สามารถจับต้องได้จริง นอก จากนี้ลูกค้าองค์กรและหน่วยงานภาครัฐของเอสทีที จีดีซีด้วยเช่นกัน

 

ผ่ายุทธศาสตร์  STT GDC 5 ปี ขึ้นเบอร์ 1 ดาต้าเซ็นเตอร์

 

 

•ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1

    ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจากผู้ให้บริการที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 17-18% อาจเป็นเพราะประเทศไทยเริ่มต้นช้ากว่าจึงมีตัวเลขในการเติบ โตมากกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมทั่วโลก อย่างไรก็ตามเป้าหมายของธุรกิจคือ การขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในทุกประเทศที่ให้บริการ และด้วยลักษณะการออกแบบแคมปัสแรกที่รองรับความจุ (Capacity) ได้ 40 เมกะวัตต์ น่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยคาดว่าไม่เกิน 5 ปีจะขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ อีกทั้งหวังว่าจะช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมรวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการได้ครั้งแรกในช่วงต้นปี 2564 และ คาดว่าจะสามารถทำรายได้ 1,000 ล้านบาทได้ภายใน 4 ปี 

 

บทสัมภาษณ์โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,594 หน้า 16 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม 2563