เชื่อ"เฟซบุ๊ก-กูเกิล” ยอมจ่ายภาษี อี-เซอร์วิส

15 มิ.ย. 2563 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2563 | 19:35 น.

วงการโฆษณาดิจิทัล เชื่อ “เฟซบุ๊ก-กูเกิล” มาตรฐานดำเนินธุรกิจสูง ยอมจ่ายภาษี “อี-เซอร์วิส”ไทย ขณะที่กูเกิล ร่อนสเตทเมนท์ พร้อมดำเนินการหากกฎหมายบังคับใช้ “สรรพากร” แจงทำความเข้าใจยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติ มาตั้งแต่แก้ร่างกฎหมาย-ประชาพิจารณาจัดเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย กลายกระแส

ทอล์กออฟเดอะทาวน์ในวงการดิจิทัลของไทย โดยเป็นกฎหมายที่ผู้ประกอบการไทย หรือแม้แต่บริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในไทย เรียกร้องมาเป็นเวลานาน เนื่องจากเสียเปรียบทุกด้าน ทั้งเงินทุน รายได้ ผู้ใช้บริการ ต้นทุนทางธุรกิจ ถึงแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้โดยต้องผ่านกระบวนการพิจารณาในสภาฯ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณตอบรับพร้อมปฎิบัติตามกฎหมายจากยักษ์ใหญ่บริการดิจิทัลเซอร์วิสออกมา

แหล่งข่าวจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) เปิดเผยว่าเชื่อว่าผู้ให้บริการแพลต ฟอร์มข้ามชาติ เหล่านี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมาตร ฐานการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับกฎหมายในแต่ละประเทศ ซึ่งหากไทยมีกฎหมายจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสออกกมาบริษัทข้ามชาติเหล่านี้พร้อมปฎิบัติตามกฎหมาย

ส่วนจะมีผลต่อโครงสร้างค่าบริการโฆษณาดิจิทัลหรือไม่นั้นมองว่าไม่มีผล โดยที่มีผู้มองว่ารัฐจัดเก็บภาษี VAT ผู้ให้บริการเหล่านี้จะผลักภาระให้ลูกค้านั้นข้อเท็จจริงในการเลือกซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัลนั้นลูกค้ามองที่ความคุ้มค่ามากกว่าราคา โดยราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก อีกทั้งอัตราค่าโฆษณาบนสื่อข้ามชาติเหล่านี้มีความยืดหยุ่น ไม่ได้มีราคาตายตัวเหมือนสื่อดังเดิม และยังมีปริมาณพื้นที่ให้ลงเป็นจำนวนมากกว่าสื่อดังเดิม

ทั้งนี้พิจารณาจากข้อมูลตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลล่าสุดที่คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 13% จะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก และยูทูป คงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อสร้าง Touch Pointsบนช่วงวิถีการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคซึ่งหากผู้ประกอบการไทยอยากเป็นทางเลือก ในการที่แบรนด์เลือกลงโฆษณาก็ต้องปรับตัวให้มีรูปแบบน่าสนใจ หรือมีความคุ้มค่ามากขึ้น

 

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ให้บริการดิจิทัลข้ามชาติที่มีการจดทะเบียนในไทยรายหนึ่ง กล่าวว่าผู้ให้บริการในประเทศ ที่มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เรียกร้องให้รัฐบาล จัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้ามชาติมาเป็นเวลานานแล้ว ที่ผ่านมาผู้ในประเทศ เสียเปรียบผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้ามชาติในทุกด้าน ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้เงินทุน เม็ดเงินรายได้โฆษณาดิจิทัล รวมถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจ กฎหมายดังกล่าวจะเข้ามาช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น

ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้ จะปฏิบัติตามกฎหมายไทย เนื่องจากทั้ง กูเกิล และเฟซบุ๊ก เป็นบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากรัฐสามารถจัดเก็บภาษี จากผู้ให้บริการข้ามชาติทั้ง 2 ราย ได้ก็น่าจะนำรายได้เข้ารัฐมหาศาล เนื่องจากผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ครองรายได้กกว่า 80% ของเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในไทย

ล่าสุดบริษัทกูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม กูเกิล และ ยูทูป ได้ส่งสเตทเมนท์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า พร้อมทำตามกฎหมายด้านภาษีในทุกประเทศที่กูเกิลเข้าไปทำธุรกิจ รวมถึงกฎหมายภาษีอื่น ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายอี-เซอร์วิส และเมื่อประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กูเกิลก็พร้อมดำเนินการ

ขณะที่“ฐานเศรษฐกิจ” ได้พยายามติดต่อไปยังบริษัทเฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสอบถามในเรื่องดังกล่าว แต่ได้รับการแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวโดยหากมีความเห็นใดๆ ออกมาอย่างเป็นทางการจะรีบแจ้งโดยทันที

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าระหว่างแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย และการทำประชาพิจารณ์ กรมสรรพากร ได้มีการหารือ ทำความเข้าใจกับเฟซบุ๊ก และกูเกิลมาตลอด ซึ่งบริษัทเหล่านี้แจ้งว่าพร้อมดำเนินการตามกฎหมายไทย หากมีผลบังคับใช้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3583 วันที่ 14-17 มิถุนายน 2563