เอ็นไอเอ ตั้งเป้าปั้นสตาร์ทอัพสายเกษตรสู่ “ยูนิคอร์นโลก” ผ่านเวที “AGROWTH” หวังปูทางสู่ครัวโลก
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า AGrowth เป็นโปรแกรมการเร่งสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตรในระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง NIA บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี 10 สตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย ฮ่องกง ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 240 บริษัท ตามความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์และสร้างการแก้ปัญหาแนวทางใหม่ๆ ได้แก่ เทคโนโลยี การผลิตพืช การเกษตรแม่นยำสูง การใช้โปรแกรมอัตโนมัติ การแบ่งปันเครื่องจักร การใช้โดรน การทำเกษตรในร่ม และการบริหารจัดการพื้นที่ทำการเกษตร ผ่านกระบวนการเร่งสร้างให้เกิดการเติบโตและขยายผล ด้วยการทดสอบระบบสาธิต (Proof-of-Concept) ในประเทศไทยภายใต้การจัดงาน AGrowth Demo Day เพื่อนำเสนอผลงานแก่นักลงทุนนานาชาติ องค์กรภาครัฐและเอกชน
Plant Cartridge ผู้พัฒนาพื้นที่แปลงเกษตรขนาดเล็ก สำหรับผู้ที่มีพื้นที่อาศัยในเมืองที่มีขนาดจำกัด และสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชเป็นงานอดิเรก (สหรัฐอเมริกา) Agrisource Data ซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพืชเพื่อเฝ้าระวังเกี่ยวกับสุขภาพพืชและคาดคะเนวันเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยอ้างอิงจากข้อมูลของแสงสะท้อนจากคลอโรฟิลล์ในใบไม้ (อินเดีย) Cropin โซลูชั่นและการให้บริการด้านข้อมูลต่างๆที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร ทำให้ผู้เพาะปลูกสามารถรับรู้สถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการเกษตรได้แบบเรียลไทม์ (ฮ่องกง) Farmacy HK สตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่การทำเกษตรในเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม และครัวเรือน ทำให้มีพืชผักไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี (ออสเตรเลีย)
ทั้งนี้ NIA คาดหวังที่จะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับจำนวนเกษตรกร หรือผู้ประกอบการด้านธุรกิจการเกษตรที่มีอยู่กว่า 25 ล้านรายให้มีความพร้อมในการผลิตพืชพันธุ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพในฐานะการเป็นครัวของโลก นอกจากนี้ NIA ยังมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่มเกษตรให้เป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่ง สามารถไต่ไปสู่การเป็นยูนิคอร์น เทียบเท่ากับสาขาอื่นๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น การเงิน (ฟินเทค) การท่องเที่ยว (ทราเวลเทค) กลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก (ดีพเทค) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มมากขึ้น และก้าวสู่ผู้นำด้านเกษตรกรรมได้ในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ตามโครงการ AGrowth จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพลิกโฉมการเกษตรของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนในกลุ่มเกษตรกร อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากนานาประเทศได้เข้าถึงระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงจะเป็นตัวเร่งในการสร้างสรรค์สตาร์ทอัพด้านการเกษตรรุ่นใหม่ในประเทศไทยให้มีความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น