5 โอกาสกับ ‘ปฐมา จันทรักษ์’แม่ทัพหญิงคนใหม่ ‘ไอบีเอ็ม’

11 พ.ย. 2561 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 05:19 น.
792

5 ปี (2550-2555) ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด  ดึงเงินลงทุนจากไมโครซอฟท์เข้ามาในไทยผ่านโครงการ “พาร์ตเนอร์ อินเลิร์นนิ่ง” ระยะเวลา 5 ปี มูลค่าหลายพันล้านบาท

 และการทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์รวมระยะเวลา 16 ปี โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ “ซีแอตเติล” ทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารไมโครซอฟท์ ดูแลธุรกิจทั่วโลก เป็นเครื่อง การันตีฝีมือการทำงานของ “ปฐมา จันทรักษ์” ได้เป็นอย่างดี “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ปฐมา จันทรักษ์” กับบทบาทใหม่ ในฐานะรองประธานกลุ่มประเทศอินโดจีน และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ถึงโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

มองเห็นโอกาสในไอบีเอ็ม

“ปฐมา จันทรักษ์” กล่าวว่า เธอได้มีโอกาสไปเรียนรู้ธุรกิจข้ามชาติ กับไมโครซอฟต์ มา 16 ปี ดูแลธุรกิจทั่วโลก ซึ่งพบว่าทุกประเทศมีปัญหาถูกดิจิตอลดิสรัปชัน ซึ่งธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ธุรกิจรีเทล ใครจะนึกว่าธุรกิจอย่าง “ทอยส์ อาร์ อัส” จะปิดตัว การกลับมาประเทศไทยครั้งนี้ไม่ใช่เพราะตำแหน่ง แต่ต้องการนำเอาความรู้ ประสบการณ์ ที่ได้รับจากการดูแลตลาดทั่วโลก มาถ่ายทอด นำเอาโซลูชันไอบีเอ็มที่ได้รับการพิสูจน์ทั่วโลก มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ทั้งในส่วนภาครัฐ การศึกษา ภาคธุรกิจ ทั้งธนาคาร ค้าปลีก อุตสาหกรรมผลิต โดย เราสามารถนำเทคโนโลยีต่างประเทศทำ แล้วประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทยได้ สามารถดึงโครงการดีๆ ดึงการลงทุนกลับเข้ามาในไทย

[caption id="attachment_344881" align="aligncenter" width="322"] ปฐมา จันทรักษ์ ปฐมา จันทรักษ์[/caption]

สร้างโอกาสภาครัฐ

ไอบีเอ็มเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานวางแผนขับเคลื่อนนโยบาย“ไทยแลนด์ 4.0” โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้ นำเสนอแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยมองว่าสิ่งที่จะนำมาช่วยภาครัฐ คือ สมาร์ทซิตี ที่ไอบีเอ็ม เข้าไปมีส่วนช่วยประเทศออสเตรเลีย ที่ตั้งเป้าหมายไปสู่ดิจิ ตอลคันทรี ในปี 2025 โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) มาประยุกต์ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการขอวีซ่า และข้อมูลคนเข้าออกประเทศ ซึ่งเราสามารถนำสิ่งที่ออสเตรเลียทำแล้วประสบความสำเร็จมาใช้กับไทย

สร้างโอกาสภาคธุรกิจ

ไอบีเอ็ม มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราจะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทั้ง AI วัตสัน, บล็อกเชน IoT ทรัสต์และซิเคียวริตี รวมไปถึงเทคโนโลยีมัลติคลาวด์ มาผนวกกัน เพื่อช่วยภาคธุรกิจที่กำลังถูกดิสรัปชัน พร้อมทั้งกับการสร้างพันธมิตรธุรกิจ ทั้งกลุ่มสามารถ และไอเน็ต ให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีของไอบีเอ็มไปให้บริการกับกลุ่มเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ เพื่อสร้างตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอินโดจีน ทั้งลาว กัมพูชา และเมียนมา โดยผลักดัน ให้ไทยแข็งแกร่งเป็นฮับในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดอินโดจีน โดยประเทศ แรกที่คาดว่าจะขยายไปคือ กัมพูชา ซึ่งกำลังทำแผนร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จากตลาดเกิดใหม่จะอยู่ที่ราว 5-10%

สร้างโอกาสทางการศึกษา

ขณะเดียวกันยังมีแผนสร้างทักษะให้กับบุคลากรในประเทศ โดยอยู่ระหว่างการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ กับสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างงานสร้างคน ผ่านโครงการหลักสูตร “พีคอร์ส” ที่นำบุคลากรระดับอาชีวะ ทางด้าน STEM เลิร์นนิ่ง มาเข้าโครงการอบรมระยะยาว 6 ปี เพื่อสร้างบุคลากรทางด้านวิเคราะห์ข้อมูล และบล็อกเชน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยภายใต้โครงการไอบีเอ็ม จะร่วมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน จัดหาผู้สอน ให้ผลตอบแทน จัดหางานให้ ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตบุคลากรออกมาแล้ว 50 คน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

สร้างโอกาสทางสังคม

สิ่งที่อยากเห็นในไทย คือ การนำ AI วัตสัน มาใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งมองว่าขณะนี้คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยลดลง เช่นเดียวกับนํ้าตาล โดยภาคการเกษตรสามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ ความชื้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันการนำ AI มาใช้ทางการแพทย์ เช่น มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยนำมาใช้เก็บข้อมูลคนไข้ ดึงข้อมูลแนวทางการรักษาต่างๆ มาทำการวิเคราะห์ และนำเสนอทางเลือกที่ดีสุดให้กับแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษา นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี IoT ที่สามารถนำมาใช้เก็บข้อมูลนํ้าตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และส่งข้อมูลมายังคลาวด์ เพื่อทำการประมวลผลข้อมูล ส่งข้อมูลกลับมายังผู้ป่วยเพื่อ วัดนํ้าตาลในเลือดแบบเรียลไทม์

สัมภาษณ์ | หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,417 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62