จีไอเอส ผุดโซลูชันใหม่ “นอสตร้า เทเลเมติกส์” ใช้ IoT เชื่อมต่ออุปกรณ์ติดตั้งในรถ มุ่งตรวจสอบพฤติกรรมคนขับป้องกันความเสี่ยงปลอดภัยชีวิตทรัพย์สิน วางแผนการขนส่ง ตลอดจนเพิ่มสามารถบริการ
นางสาวปิยวดี หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส
จำกัด ผู้ให้บริการเทคโนโลยี GPS Tracking หรือ Fleet Management ในกลุ่มบริษัทซีดีจีฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้เปิดตัวโซลูชันใหม่ “นอสตร้า เทเลเมติกส์” ที่นำเอาเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT (Internet of Things) มาใช้เชื่อมต่อและสื่อสารกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งภายในรถ โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายในระหว่างการขับรถ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
ระบบดังกล่าวสามารถแจ้งเตือนคนขับได้แบบเรียลไทม์ และเก็บข้อมูลของระบบเครื่องยนต์ในการใช้รถตามการใช้งานจริง เพื่อประเมินสภาพรถขนส่งและวางแผนการบำรุงรักษารถ รวมทั้งแสดงรายงานผลในรูปแบบต่างๆ สำหรับสรุปผลการวิ่งงานขนส่ง พร้อมรายงานประเมินคะแนนพฤติกรรมผู้ขับขี่ ตลอดจนคำนวณค่าใช้จ่ายในการใช้รถ และเพิ่มความสามารถในการบริการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าจากข้อมูลการติดตามรถขนส่ง ตลอดจนด้านการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
[caption id="attachment_341852" align="aligncenter" width="382"]
ปิยวดี หงษ์ภักดี[/caption]
โดยตามแผนการพัฒนาระบบดังกล่าวที่วางไว้นั้นจะมีการพัฒนาการเชื่อมต่อกับกล้องวิดีโอ ภายในรถ เพื่อป้องกันแจ้งเตือนกรณีคนขับหลับใน โดยจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับหากมีการหลับตานานเกิน 3 วินาที จะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ทันที
ล่าสุดมีลูกค้าเริ่มทดลองนำระบบนอสตร้า เทเลเมติกส์ ไปติดตั้งใช้งานจริงแล้ว 5 ราย จากฐานลูกค้าที่ใช้งานระบบนอสตร้า โลจิสติกส์เดิม 400 ราย โดยอยู่ในกลุ่มรถขนส่งสินค้า และรถโดยสารคาดว่าภายในปีนี้จะมีลูกค้าใช้งานระบบดังกล่าว 10 ราย โดยขณะนี้
อยู่ระหว่างการเจรจากับฐานลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งให้ความสนใจติดตั้งระบบ
นอสตร้า เทเลเมติกส์ และคาดว่าภายในปี 2562 ระบบนอสตร้า เทเลเมติกส์ จะมียอดการเติบโตขึ้น 100%
“ตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกในปี 2559 ที่กำหนดให้รถขนส่งทุกคันต้องติดจีพีเอส และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการในการป้องกัน ดูแลความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 ล้านคัน แต่ขณะนี้คาดว่ามีรถที่ดำเนินการติดตั้งจีพีเอสไป 300,000 คัน ดังนั้นจึงมีโอกาสทางการตลาดอีกเป็นจำนวนมาก”
นางสาวปิยวดี กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจขนส่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ตอบรับการปรับตัวเข้าสู่กระบวนการทำดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชันเป็นกลุ่มต้นๆ และมีการลงทุนในเทคโนโลยีหลากหลายระบบ เนื่องจากกระบวนการขนส่งถือเป็นกระบวน การใหญ่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ทำหน้าที่ควบคุมงานขนย้าย รวบรวม และกระจายสินค้าและบริการ จากต้นทางไปสู่ปลายทางซึ่งมีตัวแปรหลายส่วนเกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สินค้า คลังสินค้า จุดกระจายสินค้า และรถขนส่งสินค้า ดังนั้น ภายใต้ระบบการบริหารงานที่มีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้การจัดการเหล่านี้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
โดยในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีเทเลเมติกส์จะเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง และเป็นเทรนด์ที่ต่อยอดนวัตกรรมการขนส่ง เป็นระบบหรืออุปกรณ์พื้นฐานที่ประกอบมาพร้อมกับตัวรถจากโรงงานผลิต โดยจากการคาดการณ์ของ Berg Insight ได้มีการทำนายจะมีจำนวนอุปกรณ์เทเลเมติกส์ติดตั้งในรถขนส่งมากถึง 100 ล้านชุดภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 159 ล้านชุดในอีก 2 ปีข้างหน้า
หน้า 5 | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับที่ 3415 วันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2561