"ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส" ชูเทคโนโลยี 'เอไอ' ยกระดับอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์

13 ก.ย. 2561 | 18:08 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2561 | 02:32 น.
"ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส" เผย เทรนด์อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลกมุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้รับมือความท้าทายในการบริหารโรงพยาบาลและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาคนไข้ ซึ่ง "ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส" พร้อมตอบโจทย์ดังกล่าวด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและโซลูชั่นการบริหารจัดการที่ครอบคลุมและใช้งานง่ายจากทุกที่



ดร. โทเบียส เซย์ฟาร์ท[19243]


ดร.โทเบียส เซย์ฟาร์ท กรรมการผู้จัดการและประธาน ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส ประจำภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลก กล่าวว่า ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส ให้ความสำคัญกับการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการให้บริการแก่คนไข้

"บริษัทมีสิทธิบัตรด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) มากกว่า 400 ฉบับ ด้าน Deep Learning อีก 75 ฉบับ และแอพพลิเคชันที่พัฒนาบนพื้นฐานเทคโนโลยีเอไอมากกว่า 30 ฉบับ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ให้บริการดูแลสุขภาพทั่วโลก ที่ต้องการพัฒนาการดูแลรักษาให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เน้นการป้องกันในระดับปัจเจกบุคคล และการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง"

"โรงพยาบาลต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย อาทิ ปริมาณคนไข้ที่เพิ่มขึ้น จำนวนบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและทำงานอย่างหนัก อัตราการเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ลดลง และการเปลี่ยนรูปแบบการเบิกค่าใช้จ่ายเป็นแบบยึดผลการรักษาเป็นหลัก ดังนั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จึงสามารถรับมือได้ทั้งด้านกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไป ความกดดันด้านต้นทุน และคนไข้ที่คาดหวังคุณภาพการรักษาพยาบาลและการบริการที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งซีเมนส์ เฮลทิเนียร์สมีความพร้อมที่จะช่วยโรงพยาบาลทั่วโลกรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ปัจจุบัน ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส มีเครื่องมือแพทย์ที่จำลองมาจากระบบการเรียนรู้และจดจำของสมองมนุษย์ ซึ่งมีประโยชน์ในการเรียนรู้รูปแบบการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมและแม่นยำที่สุด และได้พัฒนาซอฟต์แวร์ซินโกเวีย (Syngo.via) ซึ่งทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Cinematic VRT เพื่อช่วยในการเลือกตำแหน่งและมุมมองของข้อมูลภาพจากเครื่องเอ็มอาร์ไอและซีทีสแกน สำหรับการนำข้อมูลภาพที่ดีที่สุดไปใช้ในการวินิจฉัยโรค โดยการสร้างภาพสี 3 มิติ ที่มีความคมชัดและมีแสงเงา เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะที่ตรวจได้อย่างรวดเร็วและชัดเจนทุกมุมมอง จึงส่งผลดีต่อการป้องกันและวางแผนการรักษาโรค ซึ่งโรงพยาบาลชั้นนำต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ

นอกจากนั้น เครื่องมือแพทย์และระบบดิจิทัลอีโคซิสเต็มของ ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส ยังรองรับการใช้งานผ่านซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ชั้นนำอย่างหลากหลาย อาทิ Arterys, Explorer Surgical, Heartflow, Materialise, mediCAD Hectec, Mint Medical, Pie Medical Imaging, Stroll Health and SyntheticMR



increasing-workforce-productivity-in-the-diagnostic-laboratory_16-9-05193048~8


ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วโลก หันมาตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอและซีทีสแกนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องบริหารการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพ เริ่มตั้งแต่การลดระยะเวลาการรอคอยของคนไข้ ลดอัตราการตรวจซ้ำ ทราบผลการตรวจที่ชัดเจนแม่นยำยิ่งขึ้น และสามารถวางแผนการบำรุงรักษาเครื่องมือล่วงหน้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน ดังนั้น ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส จึงได้พัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่บุคลากรของโรงพยาบาลสามารถเรียนรู้วิธีการใช้งาน เทคนิคการตรวจ การวิเคราะห์และอ่านค่าต่าง ๆ ที่เรียกว่า พีอีพีคอนเน็ก หรือ PEPconnect (Personalized Education Plan) ที่ใช้งานง่ายคล้ายโซเชียลมีเดีย ตลอดจนมีแพลตฟอร์มไลฟ์เน็ต หรือ LifeNet เพื่อติดตามสมรรถนะการใช้งานของเครื่องแบบเรียลไทม์และแจ้งบำรุงรักษาได้ทันทีผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน

"การพลิกโฉมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพไปสู่ยุคดิจิทัล ผนวกกับพลังของเทคโนโลยีเอไอช่วยให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถเพิ่มความพึงพอใจของผู้มาใช้บริการ และรักษาความสามารถทางการแข่งขันเอาไว้ได้ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะท่ามกลางปริมาณงานตรวจวิเคราะห์ที่เพิ่มขึ้น" ดร.โทเบียส กล่าว

สำหรับประเทศไทย ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินงานที่สำคัญ 4 ด้าน คือ เพิ่มความแม่นยำในการตรวจรักษา เปลี่ยนโฉมการดูแลรักษาคนไข้ให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับประสบการณ์การรับบริการของคนไข้ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพไปสู่ยุคดิจิทัล


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว