ทุ่ม 400 ล้าน! อัพ "โครงข่ายเทราบิต" - 'ยูไอเอช' ปรับทิศรับองค์กรดิจิตอล - มุ่งฮับภูมิภาค

11 เม.ย. 2561 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2561 | 01:38 น.
110461-1822

‘ยูไอเอช’ ปรับทิศธุรกิจมุ่งสู่ผู้ให้บริการโครงข่ายและบริการดิจิตอลโซลูชัน รับองค์กรตื่น มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิตอล ล่าสุด อัพเกรดโครงข่ายสื่อสารทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพรองรับแบนด์วิดธ์ เติบโตระดับเทราบิตในภูมิภาค ลั่น! พร้อมเป็นศูนย์กลางโครงข่ายระดับอาเซียน

นายสันติ เมธาวิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) ในกลุ่มบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้งฯ เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของยูไอเอช คือ มุ่งไปสู่ผู้ให้บริการโครงข่ายและดิจิตอลโซลูชัน (Digital Infrastructure and Solution Provider) จากเดิมธุรกิจหลักของบริษัทมุ่งให้บริการโครงข่ายเป็นหลัก ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ที่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าของยูไอเอช ที่มุ่งไปสู่ดิจิตอลมากขึ้น


5_Photo-TCC-UIH07072017-1

โดยภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหม่ นอกจากการให้บริการโครงข่ายแล้ว จะให้บริการคำปรึกษากับองค์กรที่ต้องการปรับธุรกิจมุ่งไปสู่ดิจิตอล ซึ่งขณะนี้ ได้เริ่มให้บริการลูกค้าที่มีทั้งหมด 3,000 ราย เช่นเดียวกับบริการบริหารจัดการเอกสาร ซึ่งจะเป็นการให้บริการแปลงเอกสารเป็นอยู่ในรูปแบบดิจิตอล อาทิ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยขณะนี้ มีลูกค้าองค์กรหลายรายให้ความสนใจ ส่วนบริการสุดท้าย คือ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ที่คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ภายใน 18 เดือนข้างหน้า

110461-1820
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางธุรกิจ บริษัทจึงได้เริ่มต้นลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 400 ล้านบาท เพื่ออัพเกรดโครงข่ายสื่อสารแบ็กโบน (Backbone) หรือ โครงข่ายหลักรับส่งข้อมูลด้วยแบนด์วิดธ์ระดับเทราบิตต่อวินาที (Terabit per Second) และสามารถรองรับได้ถึง 8 เทราบิตต่อวินาที หรือประมาณ 8,000 กิกะบิตต่อวินาที จากโครงข่ายเดิมสามารถให้บริการรับส่งข้อมูลด้วยแบนด์วิดธ์สูงสุด 800 กิกะบิตต่อวินาที นอกจากนี้ โครงข่ายดังกล่าวยังเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างชายแดนไทยทั่วประเทศกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งได้เพิ่มสายไฟเบอร์ออพติกหลักเส้นที่ 3 ตามแนวทางรถไฟ ระยะทาง 2,500 กิโลเมตร เพื่อสร้างความเสถียรของโครงข่ายและเตรียมรับมือ กับปริมาณการใช้แบนด์วิดธ์ระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยยูไอเอชพร้อมเป็นศูนย์กลางโครงข่ายระดับอาเซียน

นายสันติ กล่าวต่อไปอีกว่า จากรายงานข้อมูลของ Telegeography คาดการณ์ปริมาณแบนด์วิดธ์ระหว่างประเทศ ปี 2016-2023 ในเอเชียเติบโตเฉลี่ยปีละ 47% หรือ มีปริมาณแบนด์วิดธ์ประมาณ 1,128 เทราบิตต่อวินาที ขณะที่ ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 33% หรือ มีปริมาณแบนด์วิดธ์ประมาณ 22.72 เทราบิตต่อวินาที โดยกลุ่มผู้ใช้บริการที่ใช้งานแบนด์วิดธ์และมีอัตราเติบโตสูงในเอเชีย คือ กลุ่มผู้ให้บริการคอนเทนต์ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ กลุ่มสถาบันวิจัย-การศึกษา และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

โดยโครงข่ายไฟเบอร์ระดับเทราบิตของยูไอเอช พัฒนาบนเทคโนโลยี DWDM (Dense Wavelength Division Multiplexing) ที่ทันสมัยที่สุด และมีระบบ Automatically Switched Optical Network หรือ ASON ซึ่งมีคุณสมบัติในการบริหารจัดการเส้นทางไฟเบอร์ โดยระบบจะเลือกเส้นทางไฟเบอร์บนโครงข่ายที่ดีที่สุด เพื่อรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รองรับบริการโซลูชันการสื่อสารข้อมูลธุรกิจทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับลูกค้าองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์, วิดีโอสตรีมมิ่ง, ดาวน์โหลดอัพโหลดข้อมูล ความละเอียดสูง Ultra High Definition หรือ 4K ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI), การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า (Big Data), อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things หรือ IoT) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยูไอเอชวางจุดเชื่อมโครงข่ายไปต่างประเทศ 7 แห่ง บริเวณจังหวัดติดชายแดนในประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศในเออีซี ประกอบด้วย จุดที่ จ.สงขลา เชื่อมต่อมาเลเซีย, จุดที่ จ.สระแก้ว เชื่อมต่อกับกัมพูชา, จุดที่ จ.มุกดาหาร และหนองคาย เชื่อมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จุดที่เชียงราย ตาก เชื่อมกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และมีจุดเชื่อมต่อ (Point pf Presense : PoP) ในฮ่องกงและสิงคโปร์ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายออกสู่ทั่วโลก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 05
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
CAT ร่วมสนับสนุน งาน DIGITAL THAILAND 2016
ยูไอเอช ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์พลิกองค์กรสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล


e-book-1-503x62