‘เดลต้าฯ’ผุดสมาร์ทแล็บไฮเทค ผนึกกำลัง มจพ.ขับเคลื่อนดิจิตอล ออโตเมชัน สู่ไทยแลนด์ 4.0

28 พ.ย. 2559 | 14:00 น.
“เดลต้าอีเลคโทรนิคส์” ผนึก มจพ. ผุดสมาร์ทแล็บอัจฉริยะแห่งแรกในไทย หลังบุคลากรด้านกลุ่มวิศว กลุ่มบำรุงรักษา ขาดแคลนอย่างหนัก เพื่อขับเคลื่อนดิจิตอล ออโตเมชัน สู่ไทยแลนด์ 4.0

นายสุชาติ เซียงฉิน รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ มจพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ มจพ. ได้ร่วมกับบริษัท เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมไอซีที ได้เปิดสมาร์ทแล็บอัจฉริยะ (Smart IALab) แห่งแรกของประเทศไทย ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โดยการทำเทคโนโลยีอินดัสเตรียล ออโตเมชัน (Industrial Automation) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อกระตุ้นนวัตกรรมและสนับสนุนสตาร์ตอัพผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

เนื่องจากธุรกิจอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยสมาร์ทเทคโนโลยีและอินดัสเตรียลออโตเมชัน อาทิเช่น หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์เสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง, Jetpack (เจ็ตแพ็ก) เหมือนเป้สะพายหลังติดไอพ่น ช่วยให้มนุษย์บินได้แบบส่วนตัว, รถพลังงานไฟฟ้าซึ่งจะไม่มีเครื่องยนต์ มีเพียง power charger ตัวนิดเดียว สามารถชาร์จไฟได้ที่บ้าน, รถยนต์ไร้คนขับที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีต่างๆ, การขนส่งพัสดุทางอากาศโดยใช้โดรน ประหยัดเวลาลพลังงาน เป็นต้น

ด้านนายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เป็นองค์กรพัฒนานวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไอซีทีและการจัดการพลังงานของโลก รวมถึงพาวเวอร์ชาร์จสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สร้างงานสร้างรายได้แก่ประเทศไทยปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท กล่าวว่า เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และไทยแลนด์ 4.0 นั้น ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากร 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิศวกรที่จะนำระบบ Industrial Automation (IA) ไปออกแบบปรับปรุงและพัฒนาโรงงานและระบบการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 2.กลุ่มที่จะบำรุงรักษา Industrial Automation (IA) และ 3.กลุ่มที่มีทักษะในการเป็นผู้ใช้ระบบ Industrial Automation (IA) โครงการ Smart IA Lab ที่เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ สนับสนุนส่งมอบอุปกรณ์ไฮเทคแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยเปิดเป็นแห่งแรกในไทย ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ.มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีออโตเมชัน (Industrial Automation)

ขณะที่นายเกษมสันต์ เครือธร ผู้จัดการภาคพื้นอาวุโสฝ่ายอินดัสเตรียลออโตเมชัน บมจ.เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วิศวกรยุคไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีโลกทัศน์กว้างไกล เนื่องจากรูปแบบอุตสาหกรรม 4.0 นั้น สิ่งที่สำคัญในในกระบวนการผลิตในโลกอนาคต คือเทคโนโลยีออโตเมชันหรือ Industrial Automation เราจะเห็นภาพรวมว่าขณะนี้เครื่องจักรมีผลผลิตอย่างไร โรงงานใช้พลังงานไปเท่าไหร่ จุดไหนมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เป็นต้น ระบบ Industrial Automation ประกอบด้วย 1.เครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation Machine) 2.โรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) และ 3.กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Process Automation) เชื่อมโยงข้อมูลสื่อสารกันทั้งหมด

สำหรับในสมาร์ทแล็บอัจฉริยะ Smart IA Lab มีชุดอุปกรณ์ที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี ครบครันและเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน 4 กลุ่ม คือ 1.ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับผ่านอีเธอร์เน็ตจำนวน 3 ชุด (Operator Panel หรือ HMI) 2.ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับผ่านแคนบัสจำนวน 3 ชุด (PLC) 3.ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์เซอร์โวผ่านแคนบัสจำนวน 3 ชุด (VFD/Servo) 4. ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์เซอร์โวผ่านอีเธอร์เน็ตจำนวน 3 ชุด (Motor) การเชื่อมโยงข้อมูลทำให้ภาพรวมระบบออโตเมชันที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากห้องแล็บแบบเดิม ที่สอนแยกส่วนกัน เช่น PLC 1 ห้องเรียน และ Drive 1 ห้องเรียน และไม่มีการสอนเรื่อง อุปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ใช้กับเครื่องจักร หรือ HMI กับอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรกล หรือ servo ทำให้นักศึกษาไม่เห็นภาพที่ชัดเจน และ HMI สามารถทำFunction ได้ 2แบบ คือ E-Remote โดยควบคุมผ่าน Smart Phone กับ E-Server ดึงข้อมูลมาเก็บที่ Data Base ได้ ส่วนการสื่อสารหลักชุดอุปกรณ์การเรียนการสอน แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ 1. การสื่อสารแบบแคนบัส ซึ่งเป็นการสื่อแบบการส่งข้อมูลด้วยความเร็ว 1 Mbit/Sec และต่ออุปกรณ์ได้สูงสุด 8 ยูนิต 2. การสื่อสารแบบ Ethernet เป็นการสื่อสารแบบส่งข้อมูล 100 Mbit/Sec และต่ออุปกรณ์ไม่จำกัดจำนวน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559