zero-carbon

ไทยโชว์ศักยภาพเวที COP 29 ลุยพลังงานสะอาดเต็มสูบ

    ไทยเร่งขับเคลื่อน Net Zero เล็งคลอดแผนพลังงานชาติ ประกาศศักยภาพลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเวที COP 29 ลุยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 51% ของกำลังผลิตไฟฟ้าปี 2580 ลดเชื้อเพลิงฟอสซิล คาดแผนพีดีพี ช่วยลดปล่อยคาร์บอนได้ 27 ล้านตัน

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP29 ที่จะเปิดฉากขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ภายใต้ธีม"In Solidarity for a Green World" หรือ "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อโลกสีเขียว" 

โดยมุ่งนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุม "2024 UN Climate Change Conference" เพื่อเป็นเวทีตรวจสอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) การปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายเชิงปริมาณที่เกี่ยวกับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันใหม่ (New Collective Quantified Goa l: NCQG)

ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี และได้แสดงเจตนารมณ์ ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2065 (พ.ศ. 2608) ซึ่งจะต้องไปรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเน้นย้ำถึงมาตรการการดําเนินงาน ผ่านแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2573 (NDC Roadmap) ตามที่เคยประกาศเป็นเป้าหมายไว้

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผน NDC Roadmap ภาคพลังงานและขนส่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 70% หรือปล่อยปีละประมาณ 250 ล้านตัน

ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญในส่วนนี้ และกำลังเร่งจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) หรือ NEP ที่ประกอบไปด้วยทั้ง 5 แผนเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP แผนอนุรักษ์พลังงานหรือ EEP แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan

ไทยโชว์ศักยภาพเวที COP 29 ลุยพลังงานสะอาดเต็มสูบ

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพลังงานชาติ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการส่งร่างทั้ง 5 แผน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐให้ความคิดเห็น และนำมาประกอบเป็นแผน NEP ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะในช่วงปลายกันยายนนี้ หรือไม่ก็ภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้

อย่างไรก็ตาม ร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ จะยังดำเนินการภายใต้กรอบของแผน NEP ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน(RE) ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@ 30 พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตพลังงานหมุนเวียนเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า ร่างแผน PDP 2024 เมื่อสิ้นสุดปี 2580 ประเทศจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 112,391 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหนมุนเวียนราว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล และระบบบริหารจัดการไฟฟ้า เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่(BESS) ราว 81,293 เมกะวัตต์ โดยมีแผนปลดระวางกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหินราว 18,884 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2580 จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวเพียง 30,498 เมกะวัตต์ และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 600 เมกะวัตต์

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียน จะมีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เข้ามาในระบบมากสุดที่ 33,149 เมกะ วัตต์ รองลงมาเป็นระบบบริหารจัดการไฟฟ้า เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่(BESS) ราว 12,544 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 8,446 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 7,835 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล 1,436 เมกะวัตต์ เป็นต้น

จากการส่งเสริมดังกล่าว จะส่งผลให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 27.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2566 จากที่ปล่อยในระดับ 89.3 MtCO2e หรือคิดเป็น 57% ของเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า ที่จะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ในร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2024 ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกไว้ โดยสิ้นปี 2580 จะมีกำลังการผลิตทั้งหมดราว 73,286 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตใหม่ราว 44,915 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ รวมกับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ( IPS) 3,139 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์(Off-Grid) อีก 15 เมกะวัตต์ พลังนํ้านำเข้า 6,907 เมกะวัตต์ พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์

พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยนํ้า 2,681 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 576 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (นํ้าเสีย) 360 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังนํ้าขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ และมีแผนนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป โดยจะผสมในท่อร่วมกับก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 5% ส่วนกำลังผลิตที่เหลือ 28,371เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และมีข้อผูกพันแล้ว

ส่วนภาคขนส่งนั้น เป็นการส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยจะส่งเสริม B7 เป็นนํ้ามันหลักในกลุ่มดีเซล มีเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล(B100) อยู่ที่ 2.46 ล้านลิตรต่อวัน (775 ktoe ) ในปี 2580 และจะส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E10 เป็นน้ำมันหลักในกลุ่มเบนซิน มีเป้าหมายการใช้เอทานอลอยู่ที่ 1.55 ล้านลิตรต่อวัน (289 ktoe)

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานไฮโดรเจน มีเป้าหมายการใช้อยู่ที่ 1,395 ตัน (4 ktoe ) และการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(SAF) อยู่ที่ 1.85 ล้านลิตรต่อวัน(553 ktoe )

สำหรับการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ มีระยะเตรียมการ ช่วงปี 2567-2570 ศึกษาและจัดทำกฎหมายเพื่อรองรับการผลิต การขนส่งเชื้อเพลิงและการใช้งาน ศึกษาและกำหนดมาตรการ การส่งเสริมการลงทุน ทั้งการผลิต การจัดทำสถานีบริการและการผลิต FCEV ระยะนำร่อง ช่วงปี 2571-2577 ดำเนินการผ่านโครงการสาธิตต่าง ๆ เพื่อเตรียมการใช้งานเชิงพาณิชย์ และระยะส่งเสริมเชิงพาณิชย์ ช่วงปี 2578-2580 ขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP 2024 นั้น มีเป้าหมายจะลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี พ.ศ.2580 หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe เป็นการดำเนินงานภาคการใช้ไฟฟ้าที่สัดส่วน 25 % หรือราว 8,761 ktoe ซึ่งการขับเคลื่อนเดังกล่าว จะดำเนินงานภายใต้ 3 กลยุทธ์ ใน 14 มาตรการ 5 กลุ่ม เป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า (อาคาร) บ้านอยู่อาศัย เกษตรกรรม และภาคการขนส่งซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106.49 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี พ.ศ. 2580

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  4028 วันที่ 19 – 21 กันยายน พ.ศ. 2567