energy

เปิดร่างแผนพลังงานทดแทน ลดใช้ฟอสซิล ช่วยชาติประหยัด 4 แสนล้าน

    พพ.เปิดร่างแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ยกระดับสัดส่วนพลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย 36% พร้อมส่งเสริมไฮโดรเจน และนํ้ามันอากาศยานยั่งยืน ชี้แผนปฏิบัติการช่วยลดเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 ktoe ประหยัดได้กว่า 4 แสนล้านบาท ลดปล่อย CO2 กว่า 75 ล้านตัน

แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลัก ของแผนพลังงานชาติ ที่วางกรอบเป้าหมายการผลิตและใช้พลังงานทดแทนเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ.2567-2580) หรือ AEDP2024 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ร่าง AEDP2024 กำหนดเป้าหมายความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย(EI) ภายในปี 2580 อยู่ที่ 93,017 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ (ktoe) ลดลง 36% เมื่อเทียบกับปี 2553 แบ่งเป็นในส่วนของภาคการผลิตไฟฟ้า 24,951 ktoe เป็นในส่วนของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 15,332 ktoe ภาคความร้อน 43,884 ktoe เป็นพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 17,061 ktoe และภาคขนส่ง (การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ) 24,182 ktoe เป็นพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 1,621 ktoe รวมการใช้พลังงานทดแทนได้ 34,014 ktoe

เปิดร่างแผนพลังงานทดแทน ลดใช้ฟอสซิล ช่วยชาติประหยัด 4 แสนล้าน

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนนั้น  ร่าง AEDP2024 ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกไว้ โดยสิ้นปี 2580 จะมีกำลังการผลิตทั้งหมดราว 73,286 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตใหม่ราว 44,915 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ รวมกับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ( IPS) 3,139 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์(Off-Grid) อีก 15 เมกะวัตต์ พลังนํ้านำเข้า 6,907 เมกะวัตต์ พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์

พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยนํ้า 2,681 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 576 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (นํ้าเสีย) 360 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังนํ้าขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสากรรม 12 เมกะวัตต์ และมีแผนนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป โดยจะผสมร่วมกับก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 5% ส่วนกำลังผลิตที่เหลือ 28,371เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และมีข้อผูกพันแล้ว

ขณะที่ภาคความร้อนนั้น มีเป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิง ถ่านหิน นํ้ามันเตา และก๊าซหุงต้มในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อาหาร สิ่งทอ กระดาษ โลหะ อโลหะ เคมีภัณฑ์ และอื่นๆ เป็นในส่วนของชีวมวล 15,551 ktoe ขยะ 600 ktoe ก๊าซชีวภาพ 700 ktoe พลังงานแสงอาทิตย์ 200 ktoe และไฮโดรเจน/นํ้ามันไพโรไลซิส/ความร้อนใต้พิภพ 10 ktoe

ส่วนภาคขนส่งนั้น เป็นการส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยจะส่งเสริม B7 เป็นนํ้ามันหลักในกลุ่มดีเซล มีเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล(B 100) อยู่ที่ 2.46 ล้านลิตรต่อวัน (775 ktoe ) ในปี 2580 และจะส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E10 เป็นน้ามันหลักในกลุ่มเบนซิน มีเป้าหมายการใช้เอทานอลอยู่ที่ 1.55 ล้านลิตรต่อวัน (289 ktoe) นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานไฮโดรเจน มีเป้าหมายการใช้อยู่ที่ 1,395 ตัน (4 ktoe ) และการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(SAF) อยู่ที่ 1.85 ล้านลิตรต่อวัน (553 ktoe )

“ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ มีระยะเตรียมการ ช่วงปี 2567-2570 ศึกษาและจัดทำกฎหมายเพื่อรองรับการผลิต การขนส่งเชื้อเพลิงและการใช้งาน ศึกษาและกำหนดมาตรการ การส่งเสริมการลงทุน ทั้งการผลิต การจัดทำสถานีบริการและการผลิต FCEV ระยะนำร่อง ช่วงปี 2571-2577 ดำเนินการผ่านโครงการสาธิตต่าง ๆ เพื่อเตรียมการใช้งานเชิงพาณิชย์ และระยะส่งเสริมเชิงพาณิชย์ ช่วงปี 2578-2580 ขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากร่างแผนดังกล่าว จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงประมาณ 20,000 ktoe คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงาน ได้ไม่น้อยกว่า 75 ล้านตัน (MtCO2) ในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งจะส่งผลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคพลังงานลดลงมาอยู่ที่ 172 ล้านตัน ในปี 2580 ขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานของประเทศไทยในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตัน

อีกทั้ง ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยให้สภาวะทางเศรษฐกิจมีการขยายตัว เกิดการลงทุนมูลค่าไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาทต่อปี และช่วยสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG Model” (Bio-Circular- Green Economy) ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4002 วันที่ 20 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2567