นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ( PDP 2024 ) จะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ จากแผน PDP เดิม ซึ่งค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมีการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
สำหรับแผน PDP 2024 ดังกล่าวนั้น เบื้องต้นคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะสูงถึง 5.5 – 5.6 หมื่นเมกะวัตต์ จากแผนเดิม 3.6 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าใหม่จะต้องเพิ่มขึ้น
โดยจะพิจราณาเป็นรายภาค โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคเหนือ ที่ยังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอความต้องการใช้ ซึ่งการกำหนดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ในปี 2573 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า แผน PDP2024 จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นสัดส่วน 51% จากแผนเดิม 36% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีมากที่สุดถึง 30% ของพลังงานทดแทนทั้งหมด หรือประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์
นอกจากนี้จะมีการกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนการใช้ 5% ของการใช้ก๊าซฯ
ส่วนการกำหนดสำรองไฟฟ้าของประเทศจะใช้เกณฑ์โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือ 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง มาแทนเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)
"แผน PDP 2024 น่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ย. 67"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง