RATCH ทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ปิดดีลโรงไฟฟ้าใหม่ 6 โปรเจ็กต์ กำลังผลิตกว่า 550 MW

28 พ.ค. 2567 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2567 | 14:11 น.

RATCH จัดหนัก ทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้าน เดินหน้าลุยลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ใน 3 ประเทศ กว่า 6 โครงการ กำลังผลิตรวม 550 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตใหม่ 700 เมกะวัตต์/ปี เติมเข้าพอร์ต ฉายภาพไตรมาส 2/67 ผลงานเติบโตดีกว่าไตรมาสแรก

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทยังคงมีความสนใจและมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน และธุรกิจที่นอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Non-Power) อย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจพลังงานในปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาอยู่ในมือหลายโครงการ แต่ที่คาดว่าจะได้เห็นข้อสรุปที่ชัดเจนแน่ๆ ในปีนี้มีทั้งหมด 6 ดีล แบ่งออกเป็นในประเทศเวียดนาม 2 ดีล ฟิลิปปินส์ 2 ดีล และออสเตรเลีย 2 ดีล กำลังผลิตรวมมากกว่า 550 เมกะวัตต์ (MW)

ในขณะที่การลงทุนธุรกิจ Non-Power นั้น บริษัทมีความสนใจในการลงทุนในธุรกิจ EV ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเน้นที่การขนส่ง หรือระบบโลจิสติกส์ เป็นหลัก เพราะมองเห็นโอกาสในการเติบโตอีกมาก ด้วยการใช้เกณฑ์คาร์บอน เครดิต (Carbon Credit) ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้คาดว่าจะมีการปรับการใช้งานรถบรรทุกขนส่งจากเชื้อเพลิงดีเซลมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนใช้รถไฟฟ้ามีการคุ้มทุนที่เร็วกว่า ยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจที่เร็วมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมองการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริการด้านสุขภาพ ใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม เบื้องต้นได้เริ่มต้นศึกษาการลงทุนบ้างแล้ว ซึ่งในการลงทุนนั้นอาจเป็นการร่วมลงทุนกับทางพันธมิตรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี ในปี 2567 บริษัทได้จัดสรรเงินลงทุนไว้ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าในปี 2570 มีพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 26% เพื่อสนับสนุนโรดแมปการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัท และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศด้วย โดยประเทศที่อยู่ในความสนใจลงทุนจะเป็นฐานธุรกิจเดิมของบริษัท เช่น การลงทุนในประเทศออสเตรเลีย สปป.ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี บริษัทได้วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567-2573 ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ต่อปี

ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่ดำเนินการแล้วอยู่ในมือ ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 4,340 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มน้ำหนักกับเชื้อเพลิงในอนาคต โดยเฉพาะไฮโดรเจน รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของสินทรัพย์ โดยบริษัทยังคงเป้าหมายรายได้จากธุรกิจกลุ่มนี้ที่ 5% ในปี 2570

โดยในปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนโครงการในประเทศไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลงทุนแล้ว 10,817.25 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) จำนวน 9,007.29 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 1,809.96 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1,392.78 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 76.95% โดยคาดว่าจะ COD ได้ปีนี้ 66.36 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอย COD ต่อเนื่องได้จนถึงปี 2576 เช่น โครงการ Solar Farm โครงการ Ben Tre WF โครงการรถโมโนเรลสีชมพูส่วนต่อขยาย มอเตอร์เวย์M6&M81 โครงการ Sibundong โครงการ Sekong เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2/2567 บริษัทคาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหงสาที่ปิดซ่อมไปในไตรมาส 1/2567 จำนวน 1 ยูนิต จะกลับมาเริ่มเดินเครื่องได้ และการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Paiton Energy ในอินโดนีเซีย ที่ปิดดีลเรียบร้อยและจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ปีนี้ เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะรับรู้กำไรตามส่วนแบ่งการลงทุนที่ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์/ปี หรือราว 2,000 ล้านบาทต่อปี 

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่า EBITDA ในปี 2567 จะเห็นการเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน จากปีก่อนอยู่ที่ 14,124 ล้านบาท โดยจะมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมถึงการลงทุนในโรงพยาบาลที่เปิดดำเนินการ ในส่วนโรงไฟฟ้าในเวียดนามที่เข้าซื้อเริ่มรับรู้ผลการดำเนินงานเข้ามา ส่งผลให้ EBITDA ปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้