net-zero

ซื้อขายคาร์บอนเครดิตป่าไม้คึกคัก ดันราคา Q1 ปีงบ 68 พุ่ง 174 บาทต่อตัน

    ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตคึกคัก ไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2568 ซื้อขายกว่า 1 แสนตัน มูลค่ากว่า 17.78 ล้านบาท ประเภทการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้และเกษตรดันราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยพุ่ง 174.52 บาทต่อตัน สอดรับกับราคาในตลาดโลก

ผ่านไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม-ธันวาคม 2567) มาแล้ว สถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ยังเป็นไปอย่างคึกคัก

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รายงานว่าในช่วง 3 เดือนดังกล่าว การซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามประเภทโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ภายใต้การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง มีปริมาณซื้อขายอยู่ที่ 101,894 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) คิดเป็นมูลค่าซื้อขาย 17,782,309 บาท จาก 42 โครงการย่อย

ทั้งนี้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่วนใหญ่อยู่ในประเภทพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 26 โครงการ มีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 88,744 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่า 3,603,710 ล้านบาท

โดยประเภทที่มีการซื้อขาย ได้แก่ พลังงานชีมวล มีราคาตํ่าสุดที่ 35 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และราคาสูงสุดอยู่ที่ 500 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 45 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 250 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ซื้อขายคาร์บอนเครดิตป่าไม้คึกคัก ดันราคา Q1 ปีงบ 68 พุ่ง 174 บาทต่อตัน

ขณะที่ประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร 13 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 10,232 ตัน มูลค่าการซื้อขาย 13,562,299 ล้านบาท อาทิ จากป่าไม้ ราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 300 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ราคาสูงสุดอยู่ที่ 2,076 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

การกักเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับพืชเกษตรยืนตัน ราคาอยู่ที่ระดับ 1,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทําลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ (P-REDD+) มีราคาตํ่าสุดที่ 500 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และราคาสูงสุดอยู่ที่ 1,500 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ส่วนการจัดการขยะมูลฝอยมี 3 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 2,918 ตัน มูลค่าการซื้อขย 606,300 บาท จากการทำปุ๋ยหมัก มีราคาอยู่ที่ระดับ 100 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 ปรับตัวสูงขึ้นมามากอยู่ในระดับ 174.52 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบราคาเฉลี่ยทั้งปีของปีงบประมาณ 2567 ในระดับราคา 125.05 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่คาดว่าได้อานิสงส์จากราคาซื้อขายประเภทประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร ที่มีค่อนข้างมากและมีราคาสูง โดยเฉพาะการซื้อขายในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้นมาระหว่าง 1,700-2,076 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสอดรับราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสะสมราว 3,589,957 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายสะสม 323,940,255บาท ขณะที่การซื้อขายผ่าน Exchange Platform FTIX มีปริมาณสะสม 13,665 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าคิดเป็นมูลค่า มูลค่าการซื้อขาย 727,204 บาท

ทั้งนี้มีโครงการที่ขอขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก.แล้วจำนวน 433 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่รับรองแล้ว 21,438,984 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 252 โครงการ และ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกชดเชย 1,957,226 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งยังมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่อยู่ในตลาดราว 19,481,758 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า